ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมว.การพัฒนาสังคมฯ รุดเปิดงานประชารัฐร่วมใจหยุดการขอทานที่เมืองย่าโม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก เผยเคลื่อนขบวนรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ จาก 20 จว.ภาคอีสานกว่า 2,000 คนไปรอบเมืองโคราช พร้อมเดินหน้าเอาผิดผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โทษหนักทั้งจำคุก 3-5 ปี และปรับ หวังลดจำนวนคนขอทานในประเทศ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (28 ก.ค.) ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมประชารัฐร่วมใจหยุดการขอทาน ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชารัฐในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นวันแรกในวันนี้
โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายพงษ์ มาลาชาสิงห์ ที่ปรึกษา รมว.การพัฒนาสังคมฯ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว รวมทั้งปลัดกระทรวง, อธิบดี, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มพลังมวลชนจากทั้ง 20 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน ก่อนร่วมกันเดินขบวนรณรงค์ไปรอบตัวเมืองโคราช
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ประกาศเจตนารมณ์ตามแนวคิด “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” พร้อมกับลงนามความร่วมมือรณรงค์ “ชาวโคราชร่วมใจหยุดการขอทาน” ต่อหน้าอนุสาวรีย์ย่าโม และร่วมเดินขบวนรณรงค์กับข้าราชการและประชาชนจาก 20 จังหวัดภาคอีสานกว่า 2,000 คน จากบริเวณลานอนุสาวรีย์ย่าโมไปตามถนนราชดำเนิน และถนนสายต่างๆ ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทาน การเตรียมความพร้อมเรื่องกองทุน การยับยั้งป้องกันขอทานต่างด้าว การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประเทศมีจำนวนคนขอทานลดลง
จากการจัดระเบียบขอทานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบันพบขอทานรวม จำนวน 4,648 คน แยกเป็นขอทานคนไทย 2,944 คน และขอทานต่างด้าว 1,704 คน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะดำเนินการผลักดันขอทานต่างด้าวส่งกลับประเทศของตัวเอง และขอทานคนไทยจะถูกส่งเข้ารับการพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ภายใต้ “โครงการธัญบุรีโมเดล” ซึ่งเน้นการพัฒนา และฟื้นฟูศักยภาพคนขอทาน ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านการประกอบอาชีพ และส่งต่อคนขอทานผู้ที่ผ่านกระบวนการออกมาทดลองใช้ชีวิตอย่างอิสระในโครงการบ้านน้อยในนิคม เพื่อสร้างอาชีพ และรายได้ เพื่อไม่ให้กลับไปขอทานซ้ำอีก
สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มีสาระสำคัญ เช่น 1. มีการแยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน โดยให้มีการแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นตามที่กำหนด 2. มุ่งเน้นการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทานไม่ให้กลับมากระทำการขอทานซ้ำอีก 3. กำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำต่อผู้หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนวิกลจริต หรือทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4. มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมการขอทาน เป็นต้น