เชียงราย - กงสุลอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่พร้อมคณะเดินทางเข้าชมสวนกล้วยที่ปลูกเพื่อการส่งออกไปประเทศจีน หลังชิมรสชาติแล้วได้แนะนำให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงรายแจ้งว่า น.ส.เจนนิเฟอร์ บาร์สเคอร์น กงสุลฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำ จ.เชียงใหม่ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสวนกล้วย และกิจการบรรจุภัณฑ์ของ หจก.พญาเม็งรายการเกษตร อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย เนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่
ทั้งนี้ มีนายภูเบศร์ จูละยานนท์ นายอำเภอพญาเม็งราย และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ร่วมเยี่ยมชมด้วย ซึ่งสวนกล้วยดังกล่าวเดิมชื่อบริษัทหงต๋า จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนจีนที่เข้าไปบุกเบิกลงทุนก่อนมีปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องการใช้น้ำและสารเคมี ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น หจก.พญาเม็งรายการเกษตร
โดยมีการสร้างเป็นโรงงานบรรจุภัณฑ์และห้องเย็นอยู่ตรงกลางส่วนรอบข้างเป็นสวนกล้วยกว้างขวาง และมีการขนย้ายกล้วยที่ให้ผลผลิตพร้อมบรรจุด้วยสายพานไปยังโรงงานโดยผ่านขั้นตอนการล้างทำความสะอาดและอื่นๆ มีคนงานภายในปลูก ลำเลียงและทำบรรจุภัณฑ์พร้อมสรรพ ก่อนที่ผลผลิตทั้งหมดจะถูกขนส่งไปยังชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของ เพื่อขนส่งผ่าน สปป.ลาว บนถนนอาร์สามเอไปส่งที่ตลาดมณฑลยูนนาน ประเทศจีนต่อไป
น.ส.เจนิเฟอร์ บาร์สเคอร์น ให้ความสนใจในกิจการดังกล่าวเป็นอย่างมาก และยังได้ชิมผลผลิตกล้วยที่ทางชาวสวนนำมาให้ก่อนจะให้คำแนะนำให้มีการแปรรูปในพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย
นายภูเบศร์กล่าวว่า ภายหลังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสวนกล้วยดังกล่าวที่ผ่านมาแล้วทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งก็ได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการสูบน้ำด้วยการที่สวนกล้วยหันมาสูบน้ำจากบ่อบาดาลภายในสวนแทนการสูบจากแหล่งน้ำสาธารณะ
ส่วนเรื่องสารเคมีก็ตรวจสอบแล้วไม่พบการตกค้าง ทำให้สามารถประกอบกิจการได้จนถึงปัจจุบัน และทางกงสุลสหรัฐฯ ที่ไปเยี่ยมชมก็ให้ความสนใจอย่างมาก พร้อมแนะนำให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าการส่งออกไปทั้งหมดอย่างเดียวด้วย
ด้านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ขอตัวอย่างเครือกล้วยที่เหลือจากการคัดแยกกล้วยและนำใส่บรรจุภัณฑ์แล้วเพื่อนำไปทดลองทำกระดาษ ซึ่งพบว่ามีเครือกล้วยเหลืออยู่ภายในสวนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสวนกล้วยแห่งนี้จะคัดเลือกกล้วยน้ำหนักเครือละตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไป และคัดเอาเพียง 7 หวี ส่วนตัวเครือและหวีที่เป็นส่วนเกินจะคัดออกมาทั้งหมด ทำให้เหลือเป็นวัสดุทิ้งจำนวนมาก