ยะลา - พบโรคเหี่ยวกล้วย ระบาดหนักในกล้วยหิน พื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดยะลา เกษตรกรบางรายต้องโค่นทิ้งทั้งสวน ขณะที่เกษตรอำเภอเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย
วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเกษตรกรในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา แจ้งว่า ขณะนี้มีโรคระบาดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เรียกว่า “โรคเหี่ยวกล้วย” ระบาดหนักในสวนกล้วยหิน ในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยพบมากสุดที่ อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา
โดยโรค “เหี่ยวกล้วย” ที่ว่านี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าไปทำลายระบบท่อเลี้ยงส่งน้ำในต้นกล้วย ทำให้กล้วยยืนต้นตาย ใบเหลือง และผลลีบไม่สมบูรณ์ เนื้อของกล้วยจะเป็นสีดำ โดยพบการระบาดเริ่มมาจาก อ.เบตง จ.ยะลา และเข้าสู่ อ.ธารโต อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ซึ่งจากการหาสาเหตุในเบื้องต้นนั้น พบว่า โรคดังกล่าวเมื่อหลายเดือนก่อนได้เกิดระบาดในแถบพื้นที่ประเทศมาเลเซีย และขยายวงกว้างเข้าสู่สวนกล้วยใน อ.เบตง จ.ยะลา โดยสันนิษฐานขั้นต้นว่า พ่อค้าที่นำกล้วยหินจาก อ.เบตง จ.ยะลา ไปขายในฝั่งประเทศมาเลเซีย ได้ใช้วัสดุ เช่นมีด ในการตัดแบ่งเครือของกล้วยขณะนำไปขาย ทำให้เกิดการติดเชื้อ และขยายวงกว้างสู่พื้นที่สวนกล้วยหินกล้วยน้ำว้าใน อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา
โดยล่าสุด พบว่า เกษตรสวนกล้วยหินใน ต.แม่หวาด อ.ธารโต บางรายได้ตัดสินใจโค่นต้นกล้วยทิ้งทั้งสวน เนื่องจากประสบปัญหาโรค “เหี่ยวกล้วย” ระบาดอย่างหนักจนทำลายต้นกล้วยยืนต้นตายทั้งสวน
ซึ่งได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานเกษตร อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ก็ทราบว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และได้ให้ความรู้ในการจำกัดอาณาเขต ไม่ให้ “โรคเหี่ยวกล้วย” เกิดการแพร่กระจายระบาดในวงกว้าง โดยขั้นต้นนั้นได้แนะนำให้เกษตรกรสวนกล้วยหิน ระมัดระวังในการใช้มีด หรือภาชนะใดๆ ที่ใช้ในสวนกล้วย นำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ เนื่องจาก เชื้อแบคทีเรีย ที่ได้สัมผัสกับมีด หรือภาชนะจะสามารถทำให้ต้นกล้วยต้นอื่นติดเชื้อได้ และอย่าโค่นต้นกล้วยทิ้งในแหล่งน้ำ เพราะเชื้อแบคทีเรียจะกระจายไปสู่แหล่งน้ำ หากมีการนำน้ำไปใช้รดต้นกล้วยในพื้นที่อื่นๆ ก็จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ทำให้ต้นกล้วยติดเชื้อได้
แต่อย่างไรก็ตาม โรคระบาดดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ เป็นเพียงเชื้อที่ทำลายเฉพาะพืชกล้วยเท่านั้น และขณะนี้สวนกล้วยที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโรคระบาดดังกล่าว มี 3 อำเภอ คือ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมีจำนวนมากเท่าไหร่ แต่หากเชื้อโรคระบาดดังกล่าวแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างได้