xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดระยองรวมงบกว่าพันล้านแก้ไขน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - จังหวัดระยอง ร่วมกับหลายหน่วยงานชี้แจงทุ่มงบประมาณนับพันล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทับมา และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างยั่งยืน จากผลการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงเรียนชุมชนวัดทับมา อ.เมืองระยอง นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ระยอง พร้อมด้วย นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ผู้แทนจากมณฑลทหารบกที่ 14 นายประเสริฐ วงษ์ศรี นายกเทศมนตรี ต.ทับมา นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ระยอง นายพงษ์ศักดิ์ ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.ระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทับมาอย่างยั่งยืน โดยมีชาวบ้าน ต.ทับมา และใกล้เคียงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา ร่วมรับฟังจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ทับมา และพื้นที่ใกล้เคียงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทาง อบจ.ระยอง ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง ชลประทานระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดย อบจ.ระยอง ใช้งบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาศึกษาจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบว่าปัญหาเกิดจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร และใครจะเป็นผู้แก้ไขปัญหา โดยมี อบจ.ระยอง จังหวัดระยอง และกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลัก และผลการศึกษาต้องให้การยอมรับ เกี่ยวข้องหน่วยงานใดหน่วยงานนั้นจะต้องรับไปช่วยกันบูรณาการ

นายปิยะ นายก อบจ.ระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ผลการศึกษา และแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทับมา คือ ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบเช่น เทศ บาล ต.ทับมา เทศบาล ต.เนินพระ และเทศบาลนครระยอง บางส่วน ต้องตั้งงบประมาณดำเนินการในส่วนที่เป็นอำนาจใช้งบประมาณในส่วนที่ดำเนินการได้อย่างเช่น การขุดลอกคลอง เปลี่ยนท่อระบายน้ำ จัดเก็บขยะ และวัชพืชในคลอง ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทับมาอย่างเป็นระบบ และยั่งยืนต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท กรมชลประทาน โดยชลประทานระยอง จะต้องรับผลการศึกษาไปแก้ไขปัญหา โดยการสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปลายคลองทับมา สร้างสถานีสูบน้ำเพื่อผลักดันน้ำคลองทับมาให้เร็วที่สุด

นายปิยะ นายก อบจ.ระยอง กล่าวว่า ผลการศึกษาให้ความสำคัญพื้นที่แก้มลิงเป็นหลัก ขณะนี้ประสานบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ สูบน้ำจากแก้มลิงไปใช้ประโยชน์ไม่ต้องปล่อยทิ้งทะเลโดยไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากในพื้นที่ ต.ทับมา มีบ่อลูกรังขนาดใหญ่หลายแห่ง

ด้าน นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวว่า ผลการศึกษาของกรมชลประทานว่าปริมาณน้ำคลองทับมาสามารถรับน้ำได้ 40 ลบ.ม./วินาที ในปีที่ผ่านมา ปี 2558 ได้เกิดพายุมูจีแก และดีเปรสชัน ทำให้เกิดฝนตกหนักมีปริมาณน้ำท่วมล้นคลองทับมา 70 ลบ.ม./วินาที เกินกว่าคลองทับมาจะรับไหวถึง 30 ลบ.ม./วินาที จึงเกิดปัญหาปริมาณน้ำล้นคลอง เข้าท่วมในพื้นที่ต่างๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาของกรมชลประทาน ขณะนี้เร่งดำเนินก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่ปลายคลองทับมา รวมทั้งสิ้น 5 สถานี วงเงิน 101 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จในปี 60 ทั้ง 5 สถานีสูบน้ำแห่งนี้สามารถสูบน้ำได้รวม 25 ลบ.ม./วินาที

นายประสานต์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำคลองทับมา จะไหลลงมาทางใต้สะพานบริเวณใกล้สี่แยกเกาะกลอย มีลักษณะเป็นคอขวดซึ่งแคบมาก ปัจจุบันเจ้าของที่ดินรวม 4 ราย บริเวณดังกล่าวยกที่ดินให้ดำเนินการได้ จากการคำนวณบริเวณคลองต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 13 เมตร สร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง โดยใช้งบประมาณจากกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดระยอง ในปี 2560 รวม 60 ล้านบาท จะทำให้เร่งการระบายน้ำได้รวดเร็วขึ้น

พร้อมกันนี้ กรมชลประทานจะสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณหมู่บ้านโชคดี และข้างร้านอาหารต้นทางรัก พร้อมวางท่อขนาด 2 เมตรกว่าไปตามคันคลองเพื่อสูบน้ำไปลงคลองน้ำหู เขตเทศบาล ต.เนินพระ ต้องใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท

โดยในปี 2560 ตั้งงบประมาณไว้ 900 ล้านบาท และในปี 61 อีก 600 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนไว้หากแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังไม่หมดไปได้ จะต้องมีการดำเนินการวางท่อลอดเพื่อสูบน้ำจากคลองทับมา ไปลงสระเก็บน้ำของอีสท์วอเตอร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน และอีกแนวทางจะผันน้ำจากคลองวัดกระเฉท และคลองช้างตาย ไม่ให้ไหลลงคลองทับมาไปลงแม่น้ำระยอง คาดว่าโครงการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทับมาเมื่อดำเนินการเสร็จตามเป้าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน

นายพงษ์ศักดิ์ ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.ระยอง กล่าวว่า ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และคาดการณ์ในปี 2559 ในช่วงปลายฤดูฝนจะมีฝนมากกว่าปกติแต่ไม่มากนัก มีปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดฝน คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามัน อ่าวไทยเข้ามาในภาคตะวันออก และ จ.ระยอง ปัจจัยนี้จะอยู่จนหมดฤดูฝน

ปัจจัยที่สอง ร่องความกดอากาศต่ำทำให้เกิดฝนตกค่อนข้างมาก ประมาณกลางเดือนกันยายน ลมหนาวจากประเทศจีนแผ่ลงมาจากภาคเหนือลงมาภาคตะวันออกถึงระยอง ก็จะมีฝนตกอีกช่วงหนึ่ง แต่ถ้าอยู่นานก็อาจเกิดปัญหา

ปัจจัยที่สาม คือห ย่อนความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนตกหนัก 2 ปีที่ผ่านมา ระยองเจอปัญหาหย่อมความกดอากาศต่ำ และปัจจัยที่สี่ คือ พายุหมุน หรือดีเปรสชัน พายุโซนร้อน แรงขึ้นไปก็เป็นไต้ฝุ่น เดือนที่อันตรายส่วนใหญ่คือ ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม มีแนวโน้มทำให้เกิดฝนตกชุก ทำให้เกิดอุทกภัยขึ้นได้




กำลังโหลดความคิดเห็น