พิษณุโลก - แม่ทัพภาคที่ 3 นำทีมระดมยานยนต์สารพัดทั้งรถ-เรือ-เฮลิคอปเตอร์ พร้อมบุคลากรจากภาครัฐ-เอกชน 47 หน่วยงาน รวมกว่า 2 พันชีวิต ซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในเมืองสองแคว จำลองเหตุทั้งไฟไหม้ตึก รพ.-อาคารถล่ม
วันนี้ (25 ก.ค.) พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการจังหวัดพิษณุโลก บริเวณลานอเนกประสงค์ กองทัพภาคที่ 3ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก
นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมฝึกซ้อม ขณะที่ พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.พล.ร.4 เป็นผู้บัญชาการวางแผนเผชิญเหตุและบูรณาการเครื่องมือ ทรัพยากร บุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถ และมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือให้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน กับขีดความสามารถของหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ
โอกาสนี้แม่ทัพภาคที่ 3 และคณะ ได้ชมการจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์กู้ภัย ช่วยชีวิต และชมการสาธิตความสามารถของยุทธโธปกรณ์ของหน่วยงาน ต่างๆ ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ การดับเพลิงจากทางบกและทางอากาศ และการผจญเพลิง, การใช้บันไดช่วยเหลือผู้ประสบภัย, การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเครื่องบิน ฮ., การค้นหาช่วยชีวิตจากซากอาคารถล่ม และการใช้อุปกรณ์กู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเชือก
จากนั้นคณะแม่ทัพภาคที่ 3 ยังได้เดินทางไปชมการซ้อมแผนอพยพหนีไฟและการกู้ภัยบนพื้นที่สูงโดยใช้อาคารของโรงพยาบาลกรุงเทพ พิษณุโลก ที่ได้จำลองเหตุการณ์เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 ของอาคาร มีลำดับเหตุการณ์และปฏิบัติงานที่สำคัญ ตั้งแต่การระงับเหตุระดับของโรงพยาบาล ระดับท้องถิ่นเข้าให้การช่วยเหลือขนย้ายผู้ป่วย
เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แล้วไม่สามารถควบคุมเพลิงได้จึงร้องขอไปยังจังหวัดเพื่อระงับเหตุจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ สามารถควบคุมสถานการณ์อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ซึ่งรวมระยะเวลาซ้อมแผนทั้งสิ้นจำนวน 4 ชั่วโมง
พล.ท.สมศักดิ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยเกี่ยวกับสาธารณภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำแผนป้องกัน เตรียมความพร้อม เพราะหลายจังหวัดมีบุคลกรจากหน่วยงานป้องกันภัยสาธารภัย กระทั่งวันนี้กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก และเอกชนรวม 47 หน่วยงาน ระดมบุคลากร 2,065 คน ร่วมกันตรวจสภาพพร้อมรบด้านสาธารณภัย และกู้ภัย โดยเลือก รพ.กรุงเทพพิษณุโลก ซักซ้อมในพื้นที่สูง เพื่อความมั่นใจของประชาชนหากเกิดเหตุ
“จริงๆ แล้วการซักซ้อมต้องการความต่อเนื่อง แต่คงไม่จำเป็นกำหนดเวลาเป็นประจำปี หรือประจำเดือน แต่จะต้องพยายามทำให้บ่อยครั้ง ซึ่งการซ้อมแผนวันนี้ถือว่าใหญ่ที่สุด และสมจริงที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมาตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดพิษณุโลก”