xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์เกาหลีศึกษา ม.บูรพา ร่วมกับ 7 องค์กร ประชุมวิชาการนานาชาติเกาหลี-ไทยศึกษา เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการให้แก่นักวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์เกาหลีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ 7 สถาบัน จัดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติเกาหลีศึกษา-ไทยศึกษา ครั้งที่ 3 เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการให้แก่นักวิจัยชาวไทย และชาวเกาหลีได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์วิจัย ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญรอด บุญเกิด คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เผยว่า ทางศูนย์เกาหลีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมาคมไทยศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดจัดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติเกาหลีศึกษา-ไทยศึกษา ครั้งที่ 3 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการให้แก่นักวิจัยชาวไทย และชาวเกาหลี ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์วิจัย ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย โดยจัดให้มีการนำเสนอบทความวิจัยทั้งภาคบรรยาย และโปสเตอร์นั้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน

ทางคณะฯ จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านในการประชาสัมพันธ์งานดังกล่าวให้หน่วยงานของท่านและประชาชนทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญรอด กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี มีความสัมพันธ์กันมาอย่างช้านาน และได้พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 55 ปี ปัจจุบันนี้มีนักลงทุนจากเกาหลีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 250 หน่วยงาน

ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรม และขณะเดียวกัน มีนักลงทุนชาวไทยไปลงทุนในสาธารณรัฐเกาหลีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว หรือธุรกิจร้านอาหารไทย อีกทั้งด้วยกระแสเกาหลีเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้คนไทยได้รู้จัก และเข้าใจเกาหลีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และความเข้าใจอันดีระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคง และเป็นไปอย่างเสมอภาคกันก็คือ การพัฒนาทรัพยากรให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และสังคม และกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวได้นั้น คือ การศึกษาภาษาเกาหลีสำหรับชาวไทย และการจัดการศึกษาภาษาไทยสำหรับชาวเกาหลี ซึ่งในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย นั่นคือ มีสถาบันที่เปิดสอนเป็นวิชาเอก จำนวน 7 สถาบัน เป็นวิชาโท และเป็นวิชาเลือก รวมแล้วไม่น้อยกว่า 21 สถาบัน

นอกจากนี้แล้ว มีจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในระดับมัธยมศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 50 โรงเรียนอีกด้วย สำหรับในประเทศเกาหลีใต้ มีการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นวิชาเอกเช่นเดียวกัน ได้แก่ Hankuk University of Foreign Studies ซึ่งสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานเหล่านี้ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศได้ ศูนย์เกาหลีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ทางด้านภาษาเกาหลี และเกาหลีศึกษาในประเทศไทย และภาษาไทยและไทยศึกษาในสาธารณรัฐเกาหลี จึงได้ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมาคมไทยศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จึงได้จัดโครงการประชุมวิชาการร่วมระดับนานาชาติเกาหลีศึกษา-ไทยศึกษาขึ้น โดยใช้ชื่องานว่า “เกาหลีศึกษา-ไทยศึกษาในบริบทพหุวัฒนธรรม” เพื่อเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาเกาหลี และเกาหลีศึกษา และภาษาไทยและไทยศึกษา ระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจ นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการด้านเกาหลีศึกษา และนักวิชาการไทยศึกษา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้นำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเรียนการสอน ตลอดจนการศึกษาวิจัย ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความสัมพันธ์อันดียิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างพลังทางวิชาการ และการสร้างเครือข่ายทางวิชาการได้มากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น