xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ม.บูรพาพร้อมรับมือการระบาดโรคมือ เท้า ปาก และไข้เลือดออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รพ.ม.บูรพา เตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และผู้ป่วยไข้เลือดออก ที่มักพบจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ขณะเดียวกัน ยังจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อประชาสัมพันธ์ และรณรงค์การป้องกันโรคทั้ง 2 ชนิด



วันนี้ (13 ก.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถิติการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปากเปื่อยในเด็กขณะนี้ว่า สถานการณ์ทั่วประเทศในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยแล้วประมาณกว่า 2 หมื่นราย

โดยพบมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลา งและตะวันออก และหากเปรียบเทียบสถิติการแพร่ระบาดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้กับปีก่อน จะพบว่า ในปีนี้มีสถิติจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง และจำนวนฝนที่ตกชุก ซึ่งเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในโรคมือ เท้า ปาก จะเจริญเติบโตได้ดี

โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี มีผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาเกือบทุกวัน โดยมากจะเป็นเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี และส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาจเป็นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี

“จำนวนคนไข้เด็กที่เข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลในช่วง 2 เดือนนี้ มีประมาณ 30-40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กจากศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ และทางโรงพยาบาลยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้ความรู้ในโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กต่างๆ โดยแนะนำว่าควรมีการตรวจคัดกรองเด็กในช่วงเช้าทุกวัน และดูว่าเด็กมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคมือเท้า ปาก หรือไม่ หากพบก็ให้คัดแยกเด็ก ไม่ให้ปะปนกับรายอื่นๆ หรือให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านเพื่อพาไปพบแพทย์ ซึ่งหากเป็นก็จะต้องหยุดพักประมาณ 1 สัปดาห์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ทวีลาภ ยังกล่าวถึงวิธีสังเกตุความผิดปกติของบุตรหลานหากติดเชื้อไวรัสที่จะทำให้เป็นโรคมือ เท้า ปากว่า เบื้องต้นเด็กจะมีไข้ประมาณ 1-2 วัน จากนั้น จะเริ่มมีตุ่มที่มือ เท้า และปาก รับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำบุตรหลานไปพบแพทย์

“ปัจจุบันแผนกเด็กของเรามีห้อง ICU เด็กโดยตรง จึงสามารถดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อนได้ แต่ส่วนใหญ่โรคมือ เท้า ปากไม่ใช่โรคที่รุนแรง และโอกาสที่จะรุนแรงถึงขั้นนอนโรงพยาบาลมีน้อยมาก ดังนั้น จึงไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ และขอฝากไปยังผู้ปกครองว่าในช่วงหน้าฝนที่มีการระบาดของโรคก็ควรจะหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานไปในแหล่งชุมชน โดยเฉพาะตามตลาด หรือห้างสรรพสินค้า”

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกใน จ.ชลบุรี ขณะนี้พบว่า จำนวนผู้ป่วยยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากโรคดังกล่าวมักจะระบาดมากในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่จะเข้าจะต้องพักรักษาตัว และยังได้เริ่มรณรงค์ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลาย ร่วมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลชุมชนเพื่อแนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยเฉพาะตามหอพักนิสิต นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย

“ในแต่ละปีเรามีผู้ป่วยที่เป็นนิสติ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เราพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ และเด็กโตมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงติดต่อกัน 2-3 วัน มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่มีอาการหวัด หรืออาการอื่นๆ และหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการในลักษณะนี้ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย ที่สำคัญโรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ ดังนั้น ประชาชนต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งในบ้าน รอบบ้าน และชุมชนก็จะป้องกันได้ในระดับหนึ่ง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ทวีลาภ เผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา มีขีดความสามารถในการรับรักษาเด็กทั่วไป และเด็กเล็กที่เป็นโรคเฉพาะ ทั้งภูมิแพ้ โรคพัฒนาการเด็ก โรคปอด ฯลฯ โดยเฉพาะในส่วนห้อง ICU ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการรักษาที่ครบครัน และมีกุมารแพทย์ถึง 11 ท่าน รวมทั้งทีมพยาบาลที่มีความชำนาญ และเมื่ออาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยเด็กได้ทั่วทั่งภาคตะวันออก หลังจากในขณะนี้ มีเด็กในพื้นที่เข้ารับการรักษาเฉลี่ยวันละประมาณ 100 คน

“เราพยายามเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยเด็กทั้งโรคหนัก และซับซ้อน ด้วยการเพิ่มเครื่องมืออย่างเต็มที่ ขณะที่ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ในจังหวัดชลบุรี ก็เป็นไปตามมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และเรายังมีอนุสาขาเกือบทุกสาขาที่สามารถดูแลผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคได้อย่างเต็มที่อีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ทวีลาภ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น