อุตรดิตถ์ - ตามส่องปัญหาฮุบที่ ส.ป.ก.บึงกะโล่ อุตรดิตถ์ พบมีทั้งนายทุน นักการเมือง หน่วยงานรัฐ และประชาชน รวม 122 ราย ถือครองที่ดิน สวนทางพระราชดำริ “สมเด็จพระเทพฯ” ที่ทรงให้รักษาไว้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของชุมชน แถมล่าสุดมีขู่ไล่กำนัน-สื่อห้ามเสนอข่าวอีก
วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเดินหน้านโยบายยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.จากนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่คนยากคนจนนั้น ที่ดิน ส.ป.ก.เขต “บึงกะโล่ ต.ป่าเซ่า-ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์” กำลังกลายเป็นปมร้อนที่ชาวเมืองอุตรดิตถ์จับตากันอย่างใกล้ชิด
ซึ่ง “บึงกะโล่” เคยมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 7,400 ไร่ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริระหว่างเสด็จฯ มาทรงปล่อยพันธุ์ปลาว่า ให้ทำการอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดไป
นายไสว อิ่มซิว สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ตำบลป่าเซ่า อ.เมืองอุตรดิตถ์ กล่าวว่า บึงกะโล่ครอบคลุมพื้นที่ ต.ป่าเซ่า และ ต.คุ้งตะเภา เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งการหาปลา เลี้ยงสัตว์ นำน้ำจากแหล่งธรรมชาติเพื่อทำนาได้ตลอดทั้งปี ทำเงินให้คนทั้ง 2 ตำบลปีละไม่น้อย หล่อเลี้ยงนานาสรรพสิ่งมีชีวิตไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแล้ว แต่ปัจจุบันกลับมีการบุกรุกเข้าไปยึดครองจากส่วนราชการ นายทุน และประชาชนที่ไม่มีที่ทำมาหากิน
“เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาอดีตผู้ว่าฯ ขณะนั้นมีโครงการพัฒนาบึงกะโล่ให้เป็นอุทยานการศึกษาและนันทนาการของ จ.อุตรดิตถ์ มีการก่อสร้างอาคารศูนย์โอทอปด้วยงบหลายสิบล้านบาท พร้อมมอบอาคารให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์รับผิดชอบ แต่ปัจจุบันอาคารดังกล่าวปล่อยให้ร้างไม่มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานราชการ และสถานศึกษาเข้าไปใช้ประโยชน์ กินพื้นที่เกือบครึ่งของบึงกะโล่ เมื่อหน่วยงานเข้าไปใช้ประโยชน์แล้วมีการสร้างรั้วเพื่อกันพื้นที่ห้ามประชาชนที่เคยเข้าไปหากินในพื้นที่โดยเด็ดขาด” นายไสวกล่าว
นายสมศักดิ์ หอมเพียร กำนัน ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า จากการสำรวจ ขณะนี้มีผู้บุกรุกบึงกะโล่ ต.ป่าเซ่า-ต.คุ้งตะเภา รวม 122 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่พยายามยื่นขอเอกสารสิทธิ 65 ราย ผู้สมควรได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.เพราะมีฐานะยากจนไม่มีที่ดินทำกิน 7 รายแล้ว และคนนอกพื้นที่ของ 2 ตำบลอีก 50 ราย
นายสมศักดิ์กล่าวว่า คนเหล่านี้เห็นว่าส่วนราชการสามารถบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในบึงกะโล่ได้ก็เข้าไปยึดครองทั้งในส่วนของบึง และรอบๆ บึง ซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากพื้นที่ใช้ประโยชน์ของส่วนราชการ
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ส.ป.ก.อุตรดิตถ์จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การสำรวจแนวเขตที่ถูกต้องของบึงกะโล่ให้ชัดเจน เพราะปี 2536 ได้มีการสร้างถนนรอบบึงแต่การสร้างถนนนั้นเป็นการสร้างภายในบึง แต่แนวเขตบึงกะโล่จริงๆ อยู่นอกเขตถนนรอบบึง เมื่อประชาชนเข้าใจว่าเขตบึงกะโล่คือแนวของถนนรอบบึง พื้นที่นอกถนนจึงมีการบุกรุกของประชาชนดังกล่าว การที่จะตรวจสอบแนวเขตของบึงกะโล่ที่ถูกต้องก็ทำได้ไม่ยาก เพราะบริเวณโดยรอบนั้นเป็นที่ดินของประชาชนที่มีโฉนด เมื่อนำโฉนดของประชาชนมาเทียบก็จะกำหนดได้ทันทีว่าแนวเขตที่แท้จริงของบึงกะโล่อยู่ตรงจุดไหน
“อยากให้นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ ออกมาดูแลเพื่อให้พื้นที่แหล่งนี้เป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้อนุรักษ์ไว้เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ออกมาปกป้องและยื่นคัดค้านการแจกและจัดสรรเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ให้กับกลุ่มนายทุนที่เข้าไปบุกรุกบึงกะโล่จนทำให้ ส.ป.ก.อุตรดิตถ์ไม่จัดสรรให้กลุ่มนายทุน และญาตินักการเมือง 65 ราย ก่อนที่กลุ่มนายทุนและญาตินักการเมืองจะมาพบพร้อมเสนอเงิน 20,000 บาท-โซฟา 1 ชุด เพื่อให้ยุติการคัดค้าน
โดยล่าสุดมีประชาชนที่ร่วมคัดค้านให้ข้อมูลว่า มีนายทุนที่อดีตเคยลงรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อุตรดิตถ์ เตรียมล่ารายชื่อประชาชน ต.ป่าเซ่า ยื่นให้อำเภอ และจังหวัดเพื่อขอให้ปลดตน และพยายามขับไล่ออกจากตำแหน่งกำนัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายทุนที่อดีตเคยลงรับสมัคร ส.ส.อุตรดิตถ์เป็นชาว ต.ท่าอิฐ อ.เมืองอุตรดิตถ์ หรือเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ที่เข้าไปบุกรุกบึงกะโล่ช่วงปี 2536 ยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือของสื่อมวลชนท้องถิ่นรายหนึ่งโทร.เข้ามายังโทรศัพท์ผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวการบุกรุกบึงกะโล่ โดยพูดในทำนองว่าให้ยุติการนำเสนอข่าวนี้ พร้อมทั้งพยายามอธิบายว่า “ไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่ได้มาอย่างถูกต้อง เคยเข้าไปทำมาหากินอยู่ก่อนแล้ว ถ้ายังไม่ยุติเสนอข่าวถ้าอยากลองดีก็เอา”