ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา อ.บางปะกง ครวญผลผลิตตกต่ำลงต่อเนื่องหลังมีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเต็มพื้นที่ เผยได้รับผลกระทบจากมลพิษ น้ำเสีย และกากอุตสาหกรรมมานานถึง 3 ปีเต็ม แต่ยังหาต้นตอไม่พบ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ยากที่จะตรวจสอบได้อย่างชัดเจนครบถ้วน
วันนี้ (23 ก.ค.) น.ส.ธนาพันธ์ พุ่มเรืองนาม อายุ 36 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด ปลานิล และกุ้ง ในเขตพื้นที่ ม.5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงผลกระทบที่กำลังได้รับจากผู้ประกอบการโรงงานโดยรอบพื้นที่คลองอ้อม-บางไทร ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวตน พร้อมด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ประกอบการโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมทีทีไอนั้นได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนอย่างหนัก
หลังจากต้องประสบปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอดมานานกว่า 4 ปีที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากผลผลิตจากบ่อเลี้ยงปลา จำนวน 40 ไร่ ที่เลี้ยงไว้นั้นตกต่ำ ไม่ได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ เพราะน้ำในบริเวณโดยรอบพื้นที่นั้นเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และในบางครั้งก็ยังมีสีแดงคล้ายกับสีของสนิมเหล็ก อีกทั้งยังมีสีดำขุ่นข้น จึงอยากให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจสอบหาต้นตอตัวการที่ปล่อยน้ำเสียลงมาสู่คลองสาธารณะที่แท้จริงด้วย
น.ส.ธนาพันธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบริเวณนี้มีกลุ่มของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันนั้นได้เข้ามาเช่าพื้นที่ดำเนินกิจการโรงงานมากถึงกว่า 10 แห่งแล้ว ที่ผ่านมาจึงไม่ทราบว่าโรงงานแห่งใดที่เป็นตัวการปล่อยของเสียออกมาจนชาวบ้านได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนดังกล่าว โดยไม่รู้ว่าจะไปบอกกับใครให้มาช่วยเหลือได้บ้าง หรือต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานใด
ด้าน นางเนาวรัตน์ เมฆสุวรรณ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7 ม.5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในหมู่บ้านว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานโดยตลอด ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน พร้อมด้วยทางเทศบาลตำบลท่าข้ามก็ได้เข้าไปดูถึงในโรงงานอยู่หลายแห่ง
โดยบางแห่งก็ให้ความร่วมมือในการที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างดี แต่บางแห่งก็ไม่ให้ความร่วมมือต่อทางผู้นำชุมชน ขณะเดียวกัน สำหรับในพื้นที่ ม.5 ต.ท่าข้าม แห่งนี้ได้มีผู้ประกอบการโรงงานเข้ามาก่อตั้งโรงงานมากถึงกว่า 30 แห่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ โดยจะมีผู้บริหารเป็นคนไทย แต่ก็ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจทำอะไรเนื่องจากต้องรอการอนุมัติและการตัดสินใจจากทางเจ้าของโรงงานที่อยู่ในต่างประเทศเท่านั้น ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขล่าช้ามาก หรือบางครั้งก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากทางเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นชาวต่างชาติอีกด้วย เพราะอาจจะต้องใช้เงินในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของทางโรงงาน
“แต่ก็มีโรงงานบางแห่งที่น่าชื่นชมที่เคยกระทำการปล่อยมลภาวะเป็นพิษจนน้ำเสียออกมา และได้หันมาให้ความร่วมมือต่อชาวบ้า ในการแก้ไขปัญหาเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชนดั้งเดิมต่อไปได้” นางเนาวรัตน์ กล่าว