xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยัน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 ดี และเหมาะสมแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 เหมาะสมแล้ว ไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง นายกฯ เผยที่ผ่านมา สามารถนำไปใช้ และผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้ว

วันนี้ (23 ก.ค.) นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เจ้าหน้าที่ และองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั่วประเทศ ร่วมประชุมเครือข่ายผู้รักสัตว์ ในหัวข้อเรื่อง “ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557” ที่โรงแรมเคป ราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เผยว่า ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ดำเนินการเพื่อรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาการทารุณสัตว์ในรูปแบบต่างๆ มากว่า 22 ปี โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดความเมตตาต่อสัตว์ เพื่อให้บุคคล และเยาวชนทั่วไปได้มีบทบาทในการป้องกันการทารุณสัตว์ และการละเมิดสิทธิสัตว์

โดยเจตนารมณ์ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งสมาคมฯ ต้องการให้มีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้น จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เช่น กรมปศุสัตว์ สภาทนายความฯ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน (NGO) กว่า 90 องค์กร และกลุ่มประชาชนผู้รักสัตว์ที่มีการตื่นตัว สมาคมฯ ได้รณรงค์ และผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... และยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในนามภาคประชาชนที่ผ่านมารับรองถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

ต่อมา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการโดยรัฐสภา และผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการวิสามัญฯ แล้ว รอเพียงการลงมติในวาระสุดท้ายเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเท่านั้น แต่เนื่องจากมีการยุบสภาเสียก่อน ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ถูกชะลอการพิจารณา แต่ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้หยิบร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้มาพิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาอีกครั้ง โดยได้เปิดโอกาสให้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย จนกฎหมายนี้ผ่านออกมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

แม้ว่าในระหว่างการพิจารณากลั่นกรองร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้จะมีกลุ่มคัดค้านโดยคนรักสัตว์บางกลุ่มซึ่งมีความเห็นว่า ลักษณะของการทารุณกรรมสัตว์กว้างเกินไป ต้องการให้เฉพาะเจาะจงกว่านี้ อีกทั้งบทลงโทษก็ยังไม่แรงพอ ส่วนกลุ่มคัดค้านอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่า กฎหมายมีโทษหนักเกินไป คุ้มครองและให้สิทธิสัตว์มากเกินไป เรื่องนี้ทำให้ต้องลุ้นพอสมควร เพราะถ้าไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ก็พลาดโอกาสสำคัญที่จะได้กฎหมายในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์

ซึ่งการเรียกร้องรอคอยมาอย่างยาวนาน ถึงตอนนี้กฎหมายจะผ่านสภาฯ มาแล้วก็ยังมีคนอ้างว่ากฎหมายไม่สมบูรณ์ ไม่อาจหยุดการทารุณสัตว์ได้ ถ้าคิดกันแบบนี้อาจทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจไขว้เขวสับสน ทำให้ไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นไปได้ ทั้งที่สภาพความเป็นจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิของสัตว์มากขึ้น และร่วมกันออกมาป้องกันการทารุณกรรมสัตว์กันอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลชัดเจน

นายธีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับสมาคมฯ มีความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีข้อดีคือ 1.เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งในอดีตต้องอิงกับกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน 2.ครอบคลุมสัตว์เกือบทุกชนิด และรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติบางชนิดอีกด้วย 3.มีบทลงโทษหนักขึ้น กล่าวคือ โทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี และ 4.ครอบคลุมเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ด้วย เช่น การละทิ้งสัตว์ ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็มีบทพิสูจน์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้จริง จากสถิติการร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรกว่า 70 คดี มีคำพิพากษาของศาลแล้วไม่ต่ำกว่า 6 คดี และมีอีกหลายคดีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายคดีสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้ทันที ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ดีของสังคมในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม เจตนา และสำนึกของคนที่มุ่งกระทำผิดจนเป็นนิสัยได้

เราทุกคนจึงควรช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ปลูจิตสำนึกแห่งความเมตตา เปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์แ ละร่วมปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยกันสอดส่องดูแลให้กฎหมายฉบับนี้มีส่วนช่วยเหลือสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรม และทำให้การจัดสวัสดิภาพสัตว์มีมนุษยธรรมอย่างแท้จริง เราจึงควรภูมิใจใน “กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์” ของเรา




กำลังโหลดความคิดเห็น