xs
xsm
sm
md
lg

ตรึม! ฝรั่งแห่จองคิวทัวร์เลี้ยงช้างเชียงใหม่ ห้ามขี่-ฉีกแนวปางช้างเดิมกระจุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ฝรั่งแห่เที่ยวปางช้างทัวร์เชิงนิเวศเชียงใหม่ ฉีกแนวปางช้างเดิมๆ ที่เน้นทำรอบให้คนขี่ชมธรรมชาติจนเสี่ยงเกิดปัญหาช้างตกมัน ออกกฎห้ามคนขี่ แต่เปิดบริการให้ร่วมดูแลช้างทุกขั้นตอนตั้งแต่ทำยา ให้อาหาร พอกโคลน-อาบน้ำ ยันเก็บกวาดขี้ช้าง



วันนี้ (27 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่ ทั้งที่เปิดบริการกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงปางช้างที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยกลุ่มทุนจีนบางแห่งที่เข้ามาลงทุนรองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ มุ่งเน้นทำรอบให้บริการนักท่องเที่ยวขี่ช้างท่องป่าชมธรรมชาติ เมื่อเจอสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้เสี่ยงต่อปัญหาช้างตกมันนั้น

ล่าสุดพบว่าที่ปางช้าง Elephant Jungle Sanctuary บ้านแม่สะป๊อก หมู่ 5 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีช้างเพศเมีย 5 ตัว อายุน้อยสุดคือ ช้างฟ้าใส ที่มีอายุ 4 ขวบนิสัยซุกซนขี้เล่น และน่ารัก ได้เปิดบริการทัวร์เชิงนิเวศไม่ทรมานช้างขึ้น ไม่เฆี่ยนตี ไม่บังคับช้างให้คนขี่ กลับเปิดการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาดูแลช้างแทน ซึ่งได้รับความนิยมจากฝรั่งนักท่องเที่ยวจากยุโรป-อเมริกา มานั่งรอคิวเพื่อร่วมกิจกรรมของปางอย่างต่อเนื่อง

โดยไกด์ที่พามาจะแนะนำว่าที่ปางช้างแห่งนี้มีกฎว่าห้ามขี่ช้างอย่างเด็ดขาด หากต้องการขี่ให้ไปปางอื่น เพราะช้างที่นี่จะเลี้ยงโดยไม่มีการล่าม ไม่มีการเฆี่ยนตี ช้างจึงอารมณ์ดี ไม่ดุร้าย และคุ้นเคยกับมนุษย์อย่างมาก

ในการเข้าใช้บริการปางช้างแห่งนี้ ทางผู้จัดจะนำชุดชนเผ่าปกากะญอมาให้นักท่องเที่ยวสวมใส่ และร่วมกันตำยาช้างจากสมุนไพร ให้อาหารช้าง จากนั้นจึงนำช้างลงไปเล่นพอกโคลนเป็นสปาช้าง โดยนักท่องเที่ยวจะลงไปพอกโคลนให้ช้างเพื่อสัมผัสกับการดูแลช้างจริงๆ ก่อนนำช้างไปอาบเล่นน้ำล้างตัว ซึ่งจะมีการท่องเที่ยวรอบเช้าและบ่ายรวมวันละ 2 รอบ โดยครั้งละไม่เกิน 20 คน

นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ หรือนักท่องเที่ยวจิตอาสา ที่จะมาพักอยู่นานเป็นสัปดาห์ โดยดูแลช้างทุกอย่าง ทั้งหาต้นกล้วยมาเป็นอาหารให้ช้าง ทำความสะอาด จนรวมไปถึงเก็บกวาดอาหาร-มูลช้าง

จากการสอบถามนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่มาพักแบบการท่องเที่ยวจิตอาสานั้น ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มาเที่ยว และต้องการสัมผัสการดูแลช้างเพราะรักช้าง โดยเฉพาะช้างไทยจริงๆ โดยเลือกที่จะมาดูแลช้างแทนการขี่ช้าง เพราะเห็นว่าเป็นการทารุณสัตว์ ซึ่งคนที่รักช้างรับไม่ได้ จึงเลือกมาดูแลช้างแบบนี้ดีกว่า







กำลังโหลดความคิดเห็น