xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อม...เชียงใหม่นำซ้อมแผนตอบโต้สาธารณภัยแผ่นดินไหวรุนแรง 8 จว.เหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วม รพ.นครพิงค์ เป็นเจ้าภาพฝึกซ้อมแผนตอบโต้ฉุกเฉินสาธารณภัยระดับเขตบริการสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือ สมมติเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซักซ้อม จนท.และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มีประสิทธิภาพและความพร้อมเต็มที่รับมือหากเกิดเหตุการณ์จริง

วันนี้ (22 ก.ค. 59) ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดการฝึกซ้อมแผนตอบโต้สาธารณภัยแผ่นดินไหวอาคารถล่ม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้เขตบริการสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน มีระบบการเตรียมความพร้อมในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน จากกรณีแผ่นดินไหว อาคารถล่มในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพในการฝึกซ้อมแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและสาธารณภัยระดับเขตบริการสุขภาพที่ 1 ร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ และมีการ บูรณาการจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. 2559

โดยวานนี้ (21 ก.ค.) มีการดำเนินการฝึกซ้อมในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table - Top Exercise: TTX) แล้ว ขณะที่วันนี้เป็นการฝึกซ้อมภาคสนาม (Field Training Exercise) ในรูปแบบของการจำลองสถานการณ์จริง มีการสมมติสถานการณ์จริงว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย, ไฟไหม้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากที่ต้องทำการเคลื่อนย้ายและให้ความช่วยเหลือ โดยมีการระดมทีมแพทย์และพยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมฝึกซ้อมด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนเหมือนเกิดเหตุการณ์จริงทั้งหมด

สำหรับการฝึกซ้อมดังกล่าวตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขนั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว มีความถี่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งมีรอยเลื่อนพาดผ่านอยู่ 5 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มรอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง พาดผ่านจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ 2. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก 3. กลุ่มรอยเลื่อน แม่ทา พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย 4. กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่านจังหวัดลำปางและแพร่ 5. กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านจังหวัดลำปาง เชียงราย และพะเยา จากรอยเลื่อนดังกล่าว อาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดแผ่นดินไหว สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การฝึกซ้อมนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานทั้งในภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ อาสาสมัคร และประชาชนสามารถเผชิญเหตุกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเพิ่มความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดสถานการณ์จริง และลดจุดบกพร่อง ขั้นตอนการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติของแต่ละหน่วยงาน ทำให้มีการปรับปรุง ทบทวน แก้ไขแผนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น







กำลังโหลดความคิดเห็น