xs
xsm
sm
md
lg

ฝนมาแต่ราคาข้าวตก! พระพิจิตรหนุนปลูกเมลอน-ชาวนาพะเยาปลูกแตงกวาแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร/พะเยา - แม้สิ้นสุดภัยแล้งปี 58 แต่ชาวนายังต้องเจอปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำแทบไม่คุ้มทุน พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เมืองชาละวันเดินหน้าเปิดวัดตั้งศูนย์เรียนรู้ให้ชาวบ้านหันปลูกเมลอน ขณะที่ชาวนาพะเยาพลิกผืนนา 2 งานปลูกแตงกวาแทน บอกลงทุนหลักพัน เดือนครึ่งขายได้หลายหมื่น

วันนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ขณะนี้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว แต่ด้วยระยะที่ผ่านมาหลายจังหวัดทั่วไทยต้องผจญกับวิกฤตภัยแล้งมาอย่างยาวนาน อีกทั้งราคาข้าวที่ตกต่ำจนแทบไม่คุ้มกับต้นทุน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ-เอกชน ตลอดจนพระสงฆ์องคเจ้า หลายท้องที่ยังคงพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนาหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย ต้นทุนต่ำ ราคาดีแทน

โดยที่วัดมาบแฟ่บ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ได้เปิดจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ ระดมปัจจัยกว่า 1 แสนบาทสร้างโรงเรือนในการปลูกเมลอนขนาด 6x12 เมตร สูง 5 เมตร ในวัดฯ ถึง 3 โรงเรือน ในแต่ละโรงเรือนปลูกเมลอนได้ 250 ต้น ใช้แรงงานพระสงฆ์ และชาวบ้านในการดำเนินการก่อสร้าง

จากนั้นได้ซื้อเมล็ดพันธุ์เมลอนในราคาเมล็ดละ 3 บาทมาเพาะในกระบะเพาะชำ จนได้อายุ 15 วันแล้วนำมาลงมือปลูก โดยใช้ระบบการให้น้ำและใส่ปุ๋ยแบบน้ำหยด ที่มีการตั้งเวลาการให้น้ำทุกๆ 1 ชั่วโมงจะให้น้ำ 2 นาที ควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน 25-35 องศาเซลเซียส ลงมือปลูกเมื่อ 16 มิ.ย. 59 คาดว่าอีก 60 วันข้างหน้าก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 750 ลูก โดยแต่ละลูกน่าจะมีขนาดน้ำหนัก 1.8-2 กิโลกรัม และจะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 70 บาท

พระเมธีธรรมประนาท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองพิจิตร ที่ได้ร่วมให้การสนับสนุน และร่วมปลุกเมลอนในโรงเรือนของวัดมาบแฟ่บ บอกว่า เจตนาที่แท้จริงคือเป็นห่วงชาวบ้านที่ทำนาแต่เจอปัญหาภัยแล้ง ราคาผลผลิตตกต่ำ จึงต้องลงมือทำให้ดู ซึ่งเมลอนที่วัดมาบแฟ่บนี้คาดว่าน่าจะขายได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท ดีกว่าการทำนา 20 ไร่แน่นอน เพียงแค่เป็นข่าวว่าเริ่มลงมือปลูกวันแรกก็มีผู้ติดต่อขอจองซื้อแล้วด้วย

และนอกจากศูนย์การเรียนรู้การปลูกเมลอนในโรงเรือนที่วัดมาบแฟ่บนี้แล้ว ยังมีแปลงปลูกเมลอน-แคนตาลูปในแบบกลางแจ้ง และในโรงเรือน ของนายสมศักดิ์ บางแดง อายุ 59 อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 7 บ้านมาบแฟ่บ ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นเกษตรกรรายแรกของหมู่บ้านที่กล้าเปลี่ยนหันมาปลูกแคนตาลูปในพื้นที่ 2 ไร่ แต่มีรายได้เป็นแสนบาทต่อฤดูกาลปลูกคือ 90 วัน

ล่าสุดยังขยายกิจการหันมาปลูกเมลอนในโรงเรือนที่มีขนาดกว้าง 6x36 เมตร ด้วยงบลงทุน 120,000 บาท ปลูกเมลอนได้ 750 ต้น ขณะนี้เมลอนในโรงเรือนของนายสมศักดิ์อายุได้กว่า 1 เดือนแล้ว และคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 30 ก.ค. 59 นี้ ซึ่งมีผู้ขอเหมาซื้อแล้วให้ราคากิโลกรัมละ 70 บาท น่าจะได้เงินไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท

ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา ที่เคยทำนามาแทบทั้งชีวิต ก็หันมาใช้พื้นที่เพียง 2 งานปลูกแตงกวาสร้างรายได้งาม โดยในแต่ละรอบที่ใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณเดือนครึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 30,000 บาทต่อรอบ

นายหลั่น เครือสาร ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา พร้อมภรรยา บอกว่า ตนต้องหันมาปลูกแตงกวาในพื้นที่ประมาณ 2 งานที่ใช้ทำนาปลูกข้าวมาตลอด โดยใช้เวลาในการปลูกเพียง 1 เดือนครึ่ง ใช้งบประมาณประมาณ 3-4 พันบาท ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยทยอยเก็บแต่ละรอบนำออกไปจำหน่าย

ใน 1 สัปดาห์สามารถเก็บผลผลิตแตงกวาได้แล้วประมาณ 250 กิโลกรัม และในระยะ 1 เดือนคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัม สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี และดีกว่าการทำนาหลายเท่า









กำลังโหลดความคิดเห็น