xs
xsm
sm
md
lg

จนท.กรมอุทยานฯ นำนักวิชากรสำรวจปะการัง อช.หาดวนกร ระลอก 2 พบความสมบูรณ์ที่สุดในทะเลอ่าวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพใต้น้ำ จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
ประจวบคีรีขันธ์ - ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติฯ ที่ 3 เพชรบุรี นำ จนท.ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 ชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อม จนท.คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล ม.รามคำแหง ลงดำน้ำสำรวจบริเวณด้านหลังของเกาะเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ อ.ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ พบแนวปะการังเขากวางโต๊ะที่สมบูรณ์ที่สุดในทะเลอ่าวไทย ถือเป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่จะสามารถขยายพันธุ์ไปยังแหล่งปะการังอื่นที่เสื่อมโทรมได้ในอนาคต

วันนี้ (6 ก.ค.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจ และนายพีรวัฒิ สิโรตม์พิพัฒ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดวนกร อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสิทธิพร เพ็งสกุล และนายวัชระ สามสุวรรณ เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงดำแบบสกูรบร้าเพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังใต้ท้องทะเลด้านหลังของเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 7 กิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร อีกครั้งในระดับดับความลึก 8 เมตร หลังจากกลางเดือนที่ผ่านมา มีการสำรวจพบดอกไม้ทะเลแปลงใหญ่มีสีสันที่สวยงามบนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ บริเวณด้านหน้าของทั้งเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ มีความสมบูรณ์ถึงร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกร

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจ กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เน้นด้านหลังของเกาะทั้ง 2 ลูก ซึ่งอยู่ติดกัน ผลการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า มีแนวปะการังหลายชนิดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นปะการังเขากวางโต๊ะ ซึ่งคณะสำรวจยืนยันว่ามีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์มากที่สุดในปัจจุบันนี้

นอกจากนั้น ยังมีปะการังลายดอกไม้ ปะการังกาแลคซี่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังอ่อน ปะการังโพตาเบเซีย ปะการังถ้วยส้ม กัลปังหา และปะการังอีกหลายชนิดที่ยังสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังพบสัตว์น้ำจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่นี่ ทั้งปลาผีเสื้อเหลือง ปลาสร้อย นกเขาทะเลจุดดำ ปลานกแก้ว ฯลฯ

นายสิทธิพร เพ็งสกุล คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้ในภาพรวมถือว่าแนวปะการังบริเวณเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ถือเป็นแหล่งปะการังที่มีความสนมบูรณ์มากเป็นอันดับต้นๆ ของทะเลอ่าวไทย และอันดามัน สิ่งสำคัญการพบแนวปะการังเขากวางโต๊ะที่สมบูรณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นแหล่งพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่จะทำให้ปะการังในพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียงที่เสื่อมโทรมมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน และเห็นด้วยต่อแนวทางการจัดการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ที่ได้มุ่นเน้นเพื่อการนำคนเข้ามาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว มีการจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเข้าดำน้ำดูปะการังในแต่ละครั้ง และสิ่งสำคัญให้ความสำคัญในเรื่องการที่จะอนุรักษ์แนวปะการังผืนนี้ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ด้าน นายพีรวัฒิ สิโรตม์พิพัฒ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดวนกร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จังหวัดชุมพร และเจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะได้ร่วมกันนำทุ่นมาผูกไว้สำหรับเป็นทุ่นจอดเรือ เพื่อป้องกันแนวปะการังไม่ให้เกิดความเสียหาย เบื้องต้นก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจได้มีการหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ที่มาสำรวจในครั้งนี้ และมีการเตรียมที่จะมีการสำรวจแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อจัดทำแผนที่แนวปะการังโดยรอบของเกาะจาน และเกาะทร้ายทรีย์ รวมทั้งปะการัง และสัตว์น้ำแต่ละชนิดอย่างละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลเชิงวิชาการ

รวมไปถึงการที่จะทำเส้นทางศึกษาแนวปะการังใต้ท้องทะเลเป็นจุดๆ โดยรอบต่อไปในอนาคตอีกด้วย สิ่งสำคัญวันนี้ได้เน้นย้ำต่อทางอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ในเรื่องของการดูแลไม่ให้มีการเข้ามาลักลอบจับสัตว์น้ำในบริเวณพื้นที่รอบเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ซึ่งมีแนวปะการังน้ำตื้นซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหาดวนกร
ขอบคุณภาพใต้น้ำ จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
ขอบคุณภาพใต้น้ำ จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
ขอบคุณภาพใต้น้ำ จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น