บุรีรัมย์ - ชาว ต.สะแกซำ เมืองบุรีรัมย์ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปหมอนยางพาราเป็นสินค้าโอทอปแห่งแรกของจังหวัด ภายใต้แบรนด์ “บุรี-พารา” หวังช่วยเหลือชาวสวนยาง ทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ปัจจุบันขายทั้งปลีก และส่งมีรายได้เข้ากลุ่มเดือนละกว่า 1 แสนบาท พร้อมขายทางเว็บไซต์ ทั้งเตรียมหาตลาดส่งจำหน่ายต่างประเทศ
วันนี้ (3 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวตำบลสะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้รวมสมาชิกในหมู่บ้าน ชุมชน จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปหมอนยางพารา” เป็นผลิตภัณฑ์โอทอปแห่งแรกของจังหวัด นำไปวางจำหน่ายตามบูทจัดแสดงผลิตภัณฑ์โอทอป และขายส่งให้แก่ลูกค้าทั้งในพื้นที่จังหวัด และต่างจังหวัด เพื่อหวังช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ
ทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ปัจจุบันสามารถผลิตหมอนยางพาราได้วันละ 200-250 ใบ แต่ละเดือนมีรายได้เข้ากลุ่มไม่น้อยกว่า 100,000 บาท
ขณะนี้มีสมาชิกอยู่จำนวน 8 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 8,000-10,000 บาท ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกแล้ว ยังสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนจากการรับจ้างเย็บปลอกหมอนใบละ 10 บาทอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยโพสต์ขายหมอนยางพาราผ่านเว็บไซต์ ภายใต้แบรนด์ “บุรี-พารา” พร้อมทั้งวางแผนหาตลาดส่งออกจำหน่ายยังประเทศจีน และแถบยุโรปอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนการแปรรูปหมอนยางพารา ทางกลุ่มฯ จะซื้อน้ำยางข้นจากโรงงานที่รับซื้อน้ำยางสดของเกษตรกรในพื้นที่ โดยน้ำยางต้องมีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 60-62 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำน้ำยางข้นไปปั่นผสมกับน้ำสบู่ ใส่น้ำยาลดฟอง น้ำยาสำหรับเซตตัว และน้ำยาทำให้ยางแข็งตัวใช้ เวลาปั่นประมาณ 25 นาที
จากนั้นเทน้ำยางที่ปั่นแล้วใส่ในบล็อก หรือตัวแบบที่เป็นรูปหมอน แล้วนำเข้าตู้อบที่มีอุณหภูมิ 90 องศา ใช้ความร้อนจากไอน้ำเพื่อให้ตัวยางสุก และคงรูป ใช้เวลาอบ 45 นาที เมื่ออบเสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ก่อนนำไปแช่น้ำอีก 1 ชั่วโมง เพื่อล้างกลิ่นตัวยา หรือสารเคมีที่ผสมกับน้ำยาง แล้วนำไปรีดน้ำออกให้แห้งไม่ให้มีความชื้น
และเพื่อให้หมอนยางพาราแห้งสนิทต้องนำไปตากใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่าทิ้งไว้อีกประมาณ 1 วัน เพื่อให้แห้งสนิท ก่อนนำมาตัดแต่งเก็บรายละเอียดให้ได้รูปทรงที่สวยงาม บรรจุใส่ปลอกหมอนสีสันต่างๆ ที่เย็บเตรียมไว้ จะได้หมอนยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์
โดยหมอนยางพาราที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลสะแกซำ ร่วมกันแปรรูปขายปลีกอยู่ที่ราคาใบละ 890 บาท และขายส่งใบละ 590 บาท
นายธนินท์ วัฒนวงศ์สันติ อายุ 51 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพารา “บุรี-พารา” กล่าวว่า การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปหมอนยางพาราถือเป็นแห่งแรกของจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ทั้งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เพราะนอกจากสมาชิกจะมีรายได้แล้ว ชาวบ้านในชุมชนที่รับจ้างตัดเย็บปลอกหมอนก็จะมีรายได้ด้วย
โดยก่อนจะมาทำได้ไปศึกษาเรียนรู้วิธีขั้นตอนการทำมาหลายที่แล้ว และหลังจากจัดตั้งกลุ่มแปรรูปหมอนยางพารามาเกือบ 1 ปี มีผลตอบรับจากตลาดทั้งใน และต่างจังหวัดค่อนข้างดี และนอกจากขายในประเทศแล้วยังมีแผนจะหาตลาดส่งออกต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในอีกทางหนึ่งด้วย
นายธนินท์ บอกอีกว่า จากผลการวิจัยทางวิชาการ พบว่า คุณสมบัติของหมอนยางพาราแท้ 100% จะมีความนุ่มยืดหยุดค่อนข้าวสูง สามารถรองรับสรีระเวลานอนได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ปวดเมื่อย ช่วยกระจายแรงกดทับ รองรับ และโอบศีรษะได้ดี ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต ที่สำคัญสามารถระบายอากาศได้ดีไม่อับชื้น ปราศจากไรฝุ่น และแบคทีเรีย ทั้งยังทำความสะอาดโดยการซัก หรือปั่นด้วยเครื่องซักผ้าได้ แต่ไม่ควรนำไปตากแดด ควรใช้วิธีเป่าให้แห้งด้วยพัดลม