อุตรดิตถ์ - ชาวสวนทุเรียนลับแล ผวาโดยยึดสวนตามรอยผืนป่า “บ้านตึก ศรีสัชนาลัย” รวมตัวเรียกร้องรัฐผ่อนผัน ยันไร้นายทุนฮุบป่า ยันมีแต่ชาวบ้าน เกษตรกรรายย่อยที่ลงทุนลงแรงปลุกทุเรียนจนได้ผลแล้ว พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ขอทำกินต่อ ไม่ขายที่เด็ดขาด
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากป่าไม้ ทหาร ตำรวจ พร้อมฝ่ายปกครองเข้าตรวจยึดพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกบริเวณบ้านแม่เทิน หมู่ 8 ต.แม่สิน บ้านแม่คุ หมู่ 8 ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า มีชาวบ้าน และกลุ่มนายทุนเข้าไปบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกทุเรียน และผลไม้อื่นๆ รวมพื้นที่ประมาณ 550 ไร่ และมีแนวโน้มจะขยายเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการใช้เครื่องจักรทำถนนเข้าไปในป่าต้นน้ำ และมีการปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่กลางหุบเขาจำนวนหลายหลังอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ล่าสุด เย็นวานนี้ (1 ก.ค.) กลุ่มเกษตรกรชาวสวนจาก ต.บ้านตึก ต.ฝายหลวง และ ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้รวมตัวกันกว่า 3 ร้อยคน เดินทางมาที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล เพื่อขอให้ทางราชการผ่อนผันให้ทำกินในที่ดินที่ถูกปักป้ายยึดคืนต่อไปได้
โดยมี นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล พ.ท.ไตรภพ เทพเทพา รองหัวหน้ากองการข่าว มทบ.35 พ.ต.อ.นิรันดร์ โรหิตาคนี ผกก.สภ.ลับแล นายจรูญ ปัญญายงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล นายลิ ทีกว้าง สจ.เขตอำเภอลับแล ร่วมรับเรื่อง
กลุ่มชาวบ้านพากันยืนยันว่า ไม่มีกลุ่มนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องทำสวนทุเรียนในพื้นที่แต่อย่างใด มีเพียงชาวสวนรายย่อยเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปปักป้ายยึดคืนผืนป่าไป จำนวน 7 แปลง และยังมีป้ายที่ยังไม่ได้ปักอีก 40 แปลง ทั้งยังมีกระแสข่าวอีกว่า จะมีการยึดคืนผืนที่ต่อเนื่องลงมายังเขตพื้นที่ ต.ฝายหลวง-ต.แม่พูล ด้วย จึงขอเรียกร้องให้ทางราชการผ่อนผันให้มีที่ทำกินต่อ เพราะพื้นที่ที่ถูกตรวจยึดได้ปลูกทุเรียนกระทั่งได้ผลผลิตแล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านทั้ง 2 ตำบลดังกล่าว ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1.ขอทำกินในส่วนที่ปลูกผลไม้ไว้แล้ว ชาวสวนจะไม่ขายที่ให้นายทุน 2.ชาวสวนจะไม่รุกพื้นที่เพิ่มเติม 3.จะให้ความร่วมมือต่อทางราชการทุกอย่าง 4.ชาวสวนจะช่วยกันดูแลในเรื่องของไฟป่า และ 5.ขอป่าไม้ อย่าขยายพื้นที่ยึดคืนผืนป่าเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ในการหารือดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้กลุ่มชาวบ้านตั้งตัวแทนขึ้นมา จำนวน 32 คน (ต.แม่พูล 12 คน ต.ฝายหลวง 5 คน และ ต.บ้านตึก 5 คน) เข้าร่วมประชุมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทำกินอีกครั้งในเวลา 17.00 น.วันที่ 4 ก.ค.59 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล ก่อนที่จะมีการทำหนังสือส่งต่อไปยังศูนย์ดำรงธรรม และมอบต่อ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป