ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่จัดบวงสรวงหอบรรพกษัตริย์ตามแบบพิธีกรรมโบราณ นำเครื่องสังเวยสักการะ พร้อมฟ้อนบวงสรวงด้วยบรรดาร่างทรงของผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีบรรพชน ขอให้ช่วยปกปักรักษาให้เมืองเชียงใหม่อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ บริเวณด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ นายไพศาล สุรธรรมวิทย์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในการประกอบพิธีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์ อารักษ์หลวงนครเชียงใหม่ ตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเจริญรุ่งเรือง หลังจากนั้น ได้มีการฟ้อนบวงสรวงตลอดทั้งวัน การจัดงานดังกล่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรำลึกถึง และแสดงกตัญญุตาคารวะแด่บรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ และบรรพชนล้านนาในช่วงหลังจากเทศกาลบุญปีใหม่สงกรานต์ และก่อนเทศกาลเข้าพรรษา และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการบวงสรวงผีอารักษ์ และผีบรรพบุรุษของล้านนา เผยแพร่เกียรติคุณของบรรพชนล้านนาผ่านความศรัทธา และพิธีกรรมโบราณ
และเป็นการส่งเสริมความรู้ และความเข้าใจในประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่สาธารณชนทั่วไป รวมถึงเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่สู่สาธารณชนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และสากลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจาย์เธียรชาย อักษรดิษฐ์ ตัวแทนกลุ่มหน่อศิลป์ เปิดเผยว่า ในวาระโอกาสที่เมืองเชียงใหม่ครบรอบ 720 ปี ในปี 2559 นี้ ทางกลุ่มหน่อศิลป์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันจากภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงแห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการประกอบพิธีกรรมแบบโบราณ โดยมีการจัดสังเวยด้วยเครื่องสักการะ การฟ้อนบวงสรวงด้วยบรรดาร่างทรงของผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีบรรพชน เพื่อให้ปกปักรักษาให้เมืองเชียงใหม่ได้อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง
โดยจัดขึ้น ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมืองในเขต “คุ้มแก้วหอคำ” ของบรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ในครั้งอดีต นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยพื้นที่แห่งนี้ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา
สำหรับกำหนดการจัดงานประเพณีดังกล่าวนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นประจำทุก 4 ปี อันเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่เรียกว่า “3 ปี 4 รวงข้าว” ตามแบบโบราณสืบไป เพื่อเป็นการจรรโลงไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงาม ตามความเชื่อ และศรัทธาในท้องถิ่นล้านนา ซึ่งนับเนื่องแต่อดีตที่เคยได้มีการจัดงานบวงสรวงบูชาคารวะเพื่อแสดงออกถึงกตัญญุตาต่อผีอารักษ์ และบรรพบุรุษในช่วงเวลาดังกล่าว เอาไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไปภายหน้า โดยมีรูปแบบการจัดงานกอบด้วยการทำพิธีกรรมแบบโบราณ การสังเวยด้วยเครื่องสักการะการฟ้อนบวงสรวง โดยเหล่าบรรดาม้าขี่ที่นั่งของผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีเจ้านาย ทั้งจากเมืองลำปาง เมืองลำพูน และเมืองเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายทางวิชาการประกอบเป็นส่วนหนึ่งในงาน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้สาธารณชนถึงแนวความคิดในคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษโดยสังเขป ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการนำวัฒนธรรมล้านนามาเป็นส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพสังคม อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่สืบเนื่องภายหลังเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ จนถึงเทศกาลเข้าพรรษาของเมืองเชียงใหม่ได้ด้วยงานประเพณี และพิธีกรรมดั้งเดิมอีกทางหนึ่งด้วย