xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ร.9 กกล.สุรสีห์-กาญจน์ บูรณาการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ผบ.ร.9 กกล.สุรสีห์ ร่วมกับจังหวัดกาญจนบุรี บูรณาการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อปี 2558

วันนี้ (19 มิ.ย.) พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.พล.ร.9 กกล.สุรสีห์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และภูมิภาคภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ และการค้าเสรีที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ในด้านหนึ่งจะมีผลผลักดันให้การย้ายถิ่นของประชากรโลก และภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่ประเทศไทยนั้น มีปัจจัยมาจากความเจริญ และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่นำไปสู่ความต้องการแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก เพื่อรองรับงาน 3 ลักษณะ ที่คนไทยไม่ประสงค์จะทำ ได้แก่ ประเภทงานสกปรก (Dirty) งานหนัก (Difficult) งานเสี่ยงภัย (Dangerous) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging socity)

ทำให้กำลังแรงงานลดลงนำไปสู่การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งยังคงมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่งผลให้มีผู้อพยพเพื่อหนีภัยความรุนแรง และแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยถูกกฎหมาย และการลักลอบเข้าเมือง

ประกอบกับสภาพภูมิประเทศในพื้นที่รับผิดชอบของกองพลทหารราบที่ 9 กกล.สุรสีห์ ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางยาว มีช่องทางเข้า-ออกทางธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งยากต่อการสกัดกั้น และป้องกันการเข้ามาใหม่ ที่สำคัญการลักลอบเข้าเมืองบางส่วนมีขบวนการนำพาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวรุนแรงขึ้น

นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีแรงกดดันต่อการแก้ไขปัญหาที่มีส่วนทำให้ปัญหาขยายตัวมากขึ้น และเกิดข้อจำกัดในการจัดการ ได้แก่ กระแสสิทธิมนุษยชนสากล บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่คอยติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติติดตามหลักสิทธิมนุษยชนของประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งกองพลทหารราบที่ 9 กกล.สุรสีห์ ได้จัดเตรียมแผนงานการบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรองรับผลกระทบจากการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน อันเนื่องจากการเคลื่อนย้ายประชากรจากประเทศเพื่อนบ้าน และบูรณาการแผนงานในการปราบปราม จับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งนายจ้าง สถานประกอบการ ขบวนการนำพา และผู้ให้ที่พักพิง สำหรับในพื้นที่ที่มีคนต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ต้องมีการจัดระเบียบเพื่อควบคุมคนต่างด้าวได้อย่างเหมาะสม ด้วยการดำเนินการจัดระบบการจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติ ครม. เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง

มาตรการควบคุม และจัดระเบียบการจ้างงานในพื้นที่ชายแดน จะต้องดำเนินการจัดระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการจัดระบบการจ้างแรงงานในลักษณะเช้ามา-เย็นกลับ ในเขตพื้นที่ชายแดน ร่วมวางแผน กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยให้คำนึงถึงปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงด้วย

ด้าน นายศักดิ์ สมบุญโต ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การใช้มาตรการลงโทษตามกฎหมาย หากมีการละเมิดข้อบังคับของพื้นที่ควบคุมที่กำหนดสรุปการผ่านเข้า-ออกของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ บริเวณช่องทางพระเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ได้ประกาศ เรื่อง การเปิดจุดผ่อนปรนการค้าและการสัญจรไปมาของประชาชนบริเวณชายแดนไทย-พม่า ตามมติคณะอนุกรรมการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว สมช. ครั้งที่ 6/2535 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535 โดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย

โดยเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ประชาชนพม่า สัญจรไปมา และการค้าบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์โดยให้เข้ามาในเขตไทยได้เป็นระยะทาง 25 กม. ถึงตลาดสุขาภิบาลวังกะ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ฝ่ายพม่า อนุญาตให้ประชาชนไทยเข้าไปในพม่า ได้เป็นระยะทาง 25 กม. ถึงน้ำตกชองส่ง อ.พญาตองซู

แต่ปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม โดยในเขตประเทศไทย ชาวพม่าไปได้ไม่เกินบ้านน้ำเกิ๊ก หมู่ 8 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี และในเขตพม่า คนไทยไปได้ไม่เกินตลาดพญาตองซู การสัญจรเข้า-ออกของบุคคลกำหนดเอาไว้ช่องทางเดียวคือ ที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยผ่านจุดตรวจที่กำหนดระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.ของทุกวัน

สำหรับจุดผ่านแดนถาวรช่องทางบ้านพุน้ำร้อน หมู่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2555 เห็นชอบการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

โดยการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่าง 2 ประเทศ และเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน ราชอาณาจักรไทย ตรงข้ามกับบ้านทิกิ เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดยเปิดทำการระหว่างเวลา 06.00-20.00 น.ของทุกวัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 มิ.ย.2556 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.2556 เป็นต้นไป

โดยการผ่านเข้า-ออกของราษฎรไทย-พม่า จะใช้หนังสือเดินทาง 3 แบบ แบบที่ 1 ใช้หนังสือเดินทาง (PASS SPORT) แบบที่ 2 คือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) และแบบที่ 3 เป็นหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary) ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับกองพลทหารราบที่ 9 กกล.สุรสีห์ จะบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดทิศทาง มาตรการที่ชัดเจนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทุกกลุ่มของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น