ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผอ.ชลประทานที่ 8 ยันสัน “เขื่อนลำแชะ” โคราชแข็งแรง ปลอดภัย เผยรอยร้าวที่พบเล็กน้อยเหตุหมดอายุประกอบกับภัยแล้ง ระบุ กก.ตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน กรมชลฯ เข้าตรวจสอบแล้วเมื่อ 2 เดือนก่อนยืนยันความปลอดภัยไม่มีปัญหา เตือนประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลหรือตกใจ ล่าสุดรองบฯ รื้อทำถนนลาดยางบนสันเขื่อนใหม่ คาดได้รับในเดือนนี้
วันนี้ (15 มิ.ย.) นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวว่าสันเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา แตกร้าวชาวบ้านหวาดผวาไม่มั่นใจความแข็งแรงของเขื่อนนั้น จากรายงานของเจ้าหน้าที่ทราบว่าสันเขื่อนลำแชะมีรอยร้าวเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดแนวถนนบนสันเขื่อนยาว 2.4 กิโลเมตร เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เนื่องจากผิวถนนที่ทำจากแอสฟัลติกคอนกรีตหมดอายุ ประกอบกับภัยแล้งปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อยและอากาศที่ร้อนแดดจัด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม รอยร้าวดังกล่าวไม่ใช่รอยแตกขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อความแข็งแรงของเขื่อน โดยคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อนกรมชลประทานได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ยืนยันความแข็งแรงไม่มีปัญหาโดยวัดจากความแข็งแรงของดินใต้สันเขื่อน
“ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องเป็นกังวลหรือตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีผลต่อความแข็งแรงของเขื่อนแต่อย่างใด” นายชิตชนกกล่าว
ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณในการซ่อมแซมถนนบนสันเขื่อนลำแชะดังกล่าว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะได้งบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่การซ่อมเป็นจุดๆ เฉพาะส่วนที่แตกร้าวเท่านั้น แต่ต้องรื้อถนนบนสันเขื่อนออกทั้งหมดเพื่อทำถนนลาดยางใหม่ทดแทนตลอดแนวระยะทางทั้ง 2.4 กิโลเมตร นายชิตชนกกล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง เขื่อนลำแชะเป็นเขื่อนดินปิดกั้นลำแชะ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลที่ ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือเขื่อน 601 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ตัวเขื่อนก่อสร้างระหว่างปี 2533-2541 มีพื้นที่อ่าง 30 ตร.กม. ความยาว 2,400 ม. กว้าง 8 ม. ความสูง 29.50 ม. เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน มีระดับน้ำที่กักเก็บได้รวม 278 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 98,466 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญแห่งหนึ่งในการส่งน้ำผลิตประปาให้แก่เทศบาลนครนครราชสีมาตามคำสั่งของศาลปกครองด้วย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่เพียง 48.24 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17.54% ของขนาดความจุเท่านั้น