แพร่ - ชาวแม่ลัว เมืองแพร่ 9 หย่อมบ้าน รวมตัวปกป้องผืนป่าเกือบ 2 หมื่นไร่ จากการรุกของเกษตรแผนใหม่ งัดวัฒนธรรม ฮีตฮอยดั้งเดิม เขียนพับสาล้านนา ภาษาไทยทำ “ธรรมนูญชุมชน” เป็นธงนำ พร้อมสาปแช่งคนบุกรุกผืนป่าที่ร่วมกันรักษามานานเกือบร้อยปี นักวิชาการชี้เป็นสำนึกจากภายใน ต้นแบบแก้ปัญหาป่าภาคเหนือ
ทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอเมืองแพร่ นางแสงพลอย มุ้งมอง รองนายกเหล่ากาชาดแพร่ นายอิฐศักดิ์ ศรีสุโข ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดแพร่ นายชูชีพ ชีพอุดม ผอ.มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมผู้แทนจากหน่วยรัฐ เอกชน สภาองค์กรชุมชนตำบล ผู้แทนสภาเกษตรกร และชาวบ้านแม่ลัว หมู่ 6 อ.เมืองแพร่ ได้ร่วมกันจัดพิธีสืบชะตาป่าขุนน้ำแม่ลัว ที่วัดมงคงรัตนคีรี หมู่ 6 บ้านแม่ลัว สุดสัปดาห์นี้
โดยนิมนต์พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ร่วมปลุกเสก และอ่านธรรมนูญชุมชน ประกาศเขตชุมชนแหล่งน้ำ ป่าไม้ที่ทำกิน พร้อมระบุว่า ชุมชนจะปกปักรักษาด้วยชีวิต จะไม่ให้ผู้ใดเข้ามาทำลายป่า ตัดต้นไม้ ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งสาปแช่งผู้ที่ละเมิดกฎชุมชนนี้
หลังเสร็จพิธี พระโกศัยเจติยารักษ์ ได้มอบพับสาภาษาล้านนา ซึ่งเป็นธรรมนูญชุมชนให้แก่ผู้อาวุโส ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนนำไปเก็บรักษา และร่วมกันปฏิบัติตามต่อไป
นายปนิธี บุญสา อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ธรรมนูญชุมชนที่ทำขึ้นนี้มีทั้งภาษาล้านนา และภาษาไทย เกิดขึ้นจากสำนึกของคนในชุมชนที่ร่วมกันรักษาป่ามานานเกือบร้อยปี และเริ่มรู้สึกว่ามีผู้อื่นเข้ามาคุกคามทำลายป่า
กลุ่มชาวบ้านทั้ง 9 กลุ่ม จึงร่วมกันร่วมธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการปกปักรักษาขุนน้ำแม่ลัว ไม่ให้ถูกทำลาย ถือเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ชาวบ้านเลือกใช้มากกว่าการใช้กฎหมาย เป็นการดึงฮีตฮอยกลับมาประยุกต์ใช้ใหม่ เป็นที่มาของการร่วมกันร่างธรรมนูญ หรือกฎกติกาของหมู่บ้านที่จะร่วมกันรักษาป่า จำนวน 19,300 ไร่ ที่ชาวบ้านดูแลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475
โดยการทำการเกษตรของชาวบ้านจะมีพิธีกรรมอยู่ที่หัวสวน ทั้งสวนเมี่ยง รวมทั้งพืชต่างๆ ที่ปลูกจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งชาวบ้านมีวิธีการของตนเอง ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และเอาเป็นตัวอย่างในการขยายผลการแก้ปัญหาป่าไม้ถูกทำลายในภาคเหนือได้เป็นอย่างดี