ศรีสะเกษ - ชาวบ้านท่าสว่าง อ.กันทรลักษ์ ศรีสะเกษ รวมกลุ่มทอผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณส่งขายสวิตเซอร์แลนด์ สร้างรายได้ปีละกว่า 2 ล้าน
วันนี้ (2 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านท่าสว่าง หมู่ 9 ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายฉัตรมงคล สืบสา เลขานุการนายก อบต.โนนสำราญ ได้นำ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ศรีสะเกษ และนายธีรวุฒิ พุทธการี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 ไปเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าไหมไทย บ้านท่าสว่าง ภายใต้ “โครงการของดีบ้านฉัน ตำบลโนนสำราญ”
โดยมีการผลิตผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณ และผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าพื้น ของกลุ่มแม่บ้าน นำโดยนางขันทอง แสงทอง อายุ 47 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง และสมาชิกในกลุ่ม ได้นำผ้าไหมที่มีสีสันสวยงาม คุณภาพดีจำนวนมาก พร้อมทั้งผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น จีน และสวิตเซอร์แลนด์ สั่งซื้อไปขายเป็นจำนวนมากมาแสดงให้ชม
นางขันทอง แสงทอง อายุ 47 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง กล่าวว่า ในเดือน พ.ย. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านรุ่งอรุณ ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ในโอกาสนนั้นได้มีพระราชดำรัสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ราษฎรที่ยากจน เพื่อการอยู่ดีกินดีของราษฎร และอนุรักษ์อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ราษฎรสืบไป และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ ได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ราษฎรในเวลาต่อมา
นางขันทองกล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริดังกล่าว ราษฎรบ้านท่าสว่างจึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น และได้จดทะเบียนกับพัฒนาชุมชน อ.กันทรลักษ์ โดยให้ชื่อว่า “กลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่าง” ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มีสมาชิกทั้งสิ้น 52 คน มีการทอผ้าไหม เป็นผ้าพื้น ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าคลุมไหล่ จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจทั่วไป
นอกจากนี้ยังได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมส่งเข้าประกวดในโอกาสต่าง ๆ จนได้รับรางวัลเครื่องหมายรับรองและรางวัลอื่นๆ เช่น รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานสีทอง ปี 2549 ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากสำนักงานพาณิชย์ จ.ศรีสะเกษ ปี 2554 และเครื่องหมายรับรองคุณภาพ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ปี 2555
นางขันทองกล่าวอีกว่า ผ้าคลุมไหล่ลายลูกแก้วโบราณ เป็นสินค้าที่พวกตนภาคภูมิใจมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นสุภาพสตรีพากันมาหาซื้อไปใช้คลุมไหล่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นผ้าคลุมไหล่สีธรรมชาติ สวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติและชาวไทยทั่วไป
โดยเราขายผ้าคลุมไหล่ในราคาผืนละ 1,000 บาท แต่ผลิตไม่ทันขาย เนื่องจากมีการสั่งไปขายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าไหม ปีละกว่า 2 ล้านบาท และมีการหักเงินจากค่าขาย จำนวนร้อยละ 5 เข้าเป็นของกองทุนกลุ่มผ้าไหม เพื่อเป็นทุนใช้ในการหมุนเวียนผลิตผ้าไหม และนำเอากำไรที่ขายได้มาแบ่งปันให้กับสมาชิกทั้ง 52 คน สร้างรายได้เสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาได้เป็นอย่างดี
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขอชื่นชมกลุ่มทอผ้าไหมไทยบ้านท่าสว่างที่สามารถผลิตผ้าไหมคุณภาพดีออกไปขายทั่วประเทศ และส่งไปขายต่างประเทศด้วย ซึ่งตนจะใช้เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมของหมู่บ้านแห่งนี้ให้รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านเพิ่มขึ้นอีก