xs
xsm
sm
md
lg

“ล่องเรือกอนโดล่าแห่งเกาะช้าง” สานต่อการพัฒนาท่องเที่ยวคู่วิถีชาวประมงอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชุมชนสลักคอก เกาะช้างใต้ แบบอย่างชุมชนเข้มแข็งเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ ลุยต่อยอดพัฒนาคนสร้างความยั่งยืนท้องถิ่นด้วยวิถีชีวิตประมงผสมผสานการท่องเที่ยวแบบถวิลหาอดีต “ล่องเรือกอนโดล่าแห่งเกาะช้าง” ป้องกันนายทุนรุกที่ป่าชายเลน ปธ.ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เผยมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนทั้ง ปตท. และ อพท. ช่วยเพิ่มความยั่งยืนของวิถีชุมชน

การันตีความสำเร็จด้านการบริหารจัดการท้องถิ่นที่เข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดีสำหรับชุมชนสลักคอก ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ที่คว้ารางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชนดีเด่น ประจำปี 2553 รูปธรรมความเข้มแข็งของชุมชนที่ชัดเจนขึ้นมาจวบจนปัจจุบัน ชุมชนสลักคอก ถือได้ว่าเป็นชุมชนต้นแบบอีกชุมชนหนึ่งของประเทศที่ผสมผสานการอนุรักษ์วิถีประมงท้องถิ่น และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทำกิน ผลผลิตงามสะพรั่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวิถีชุมชนอย่างพอเพียงได้อย่างลงตัว ความสำเร็จจากความร่วมมือร่วมในวันนั้น จนมาถึงวันนี้ ชุมชนสลักคอก ยังคงเดินหน้าต่อด้วยวิถีที่ตนเองเป็น และเชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนให้ชาวบ้านได้

นางพัชรินทร์ ผลกาจ ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เปิดเผยว่า ชุมชนสลักคอก ตั้งอยู่บริเวณอ่าวสลักคอก เป็นพื้นที่ด้านตะวันออกของเกาะช้าง อยู่ในเขตตำบลเกาะช้างใต้ เป็นหมู่บ้านชาวประมงชายฝั่งที่ชาวบ้านในชุมชนต่างรัก และหวงแหนท้องถิ่นบ้านเกิดจนเกิดความร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์วิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมท้องถิ่นเอาไว้

ที่สำคัญคือ การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ป้องกันนายทุนรุกที่สาธารณะ ซึ่งถือว่าความร่วมมือของชาวบ้านที่เข้มแข็ง จะช่วยให้ชุมชนสลักคอก ก้าวข้ามสู่บริบทแห่งการพัฒนาโดยการดึงเอาการประโยชน์จากการท่องเที่ยววิถีชุมชนมาช่วยพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข็มแข็งต่อไปได้

ถ้าเราให้ความสำคัญเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวมากเกินไปก็จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร เมื่อทรัพยากรที่เรามีถูกทำลายไปต่อไปก็ยากที่จะเยียวยาไข การรักษาธรรมชาติถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ภาคการท่องเที่ยวต้องตระหนัก ชาวบ้านในชุมชนสลักคอก มีประมาณ 400 คน เราก็ระดมหุ้นชาวบ้านแบบสหกรณ์ มีการประกันหุ้นให้สมาชิก ทุกคนจะได้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีส่วนร่วม ทุกคนจะได้เห็นสิ่งที่ร่วมกันดำเนินการร่วมกัน

เราทำไปช้าๆ เพื่อให้การท่องเที่ยวชุมชนมีการพัฒนาอย่างมีมาตรฐาน จุดขายของสลักคอก อยู่ที่วิถีชีวิตชาวประมง มีการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบถวิลหาอดีต โดยการนำเรือดมาดมาพายตามเส้นทางคลองสลักคอก เยี่ยมชมธรรมชาติป่าชายเลนระยะทางร่วม 1 กม. จนได้รับการขนานนามว่า “เรือกอนโดล่าแห้งเกาะช้าง”

ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เผยต่อด้วยว่า ชุมชนสลักคอก มีการพัฒนาเครือข่ายที่หนุนต่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในส่วนของการให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมถึงที่พักอาศัย สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการบริการที่ชุมชนสลักคอก สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านสลักคอก

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ ชุมชนสลักคอก ยังมีประวัติศาสตร์เรื่องราวสมัยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองตราด เมื่อมาถึงวัดวัชคามคชทวีป ในปี พ.ศ.2427 บรรดาเจ้านายข้าราชการได้เรี่ยไรเงินถวายวัด ชาวบ้านจึงทูลขอให้พระองค์ทรงเหยียบที่สร้างพระอุโบสถ และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จจนเป็นที่สักการะของชาวบ้านตราบจนปัจจุบัน ถือเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่คงความสำคัญ และน่าสนใจต่อการสืบค้นข้อมูล

นางพัชรินทร์ ผลกาจ ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก เผยต่อว่า ในส่วนของการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้นเราเอาเรื่องของการท่องเที่ยวมาจัดการชุมชน อดีตก่อนทำการท่องเที่ยวคลองสลักคอก จะมีแต่ขยะลอยในน้ำอยู่เต็มไปหมด พอเริ่มทำการท่องเที่ยวปีแรกขยะหายไปกว่า 50-70% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ หากจะทำเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลน การพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถช่วยบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านมีความร่วมมือร่วมใจกันกันด้วย คลองสลักคอก ก็ดูสะอาดขึ้นทันตาเห็น ตอนนี้ขยะหายไปถือได้ว่า 90% แล้ว เราสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ชุมชนสลักคอก ถือได้ว่ามีความโชคดีที่การดำเนินการพัฒนาชุมชนเกิดไปโดนตาผู้ใหญ่ใจดี ทั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้การสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนสลักคอก มีการพัฒนาที่เข้มแข็งอันจะช่วยผลักดันสู่การพัฒนาชุมชนที่มีความยั่งยืนต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของการต่อยอดการพัฒนาต่อไปนั้น ชุมชนสลักคอก จะให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรที่มีให้มีเชี่ยวชาญ โดยศึกษาในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้มากขึ้น เพื่อความครอบคลุมด้านในการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวให้มีระบบที่ไม่ไปรบกวนธรรามชาติ

“ชุมชนสลักคอก ไม่ได้พัฒนาตัวเองเพื่อการท่องเที่ยว เพียงแต่เป็นการเอาทรัพยากรที่มีมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชน ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมชุมชนสลักคอกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ชุมชนสลักคอก เคารพวัฒนธรรมที่แตกต่าง นักท่องเที่ยวที่มาก็เรียนรู้ว่าชุมชนเราอยู่อย่างไร เขาก็ชอบนะ เราอยู่แบบธรรมชาติกันจริงๆ อยู่กันแบบพอเพียง เพราะไม่ได้เน้นพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เรายังใช้วิถีชีวิตชาวประมงเหมือนเดิม เราแค่ดึงการท่องเที่ยวมาช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนเท่านั้น เพราะถ้าวันใดวันหนึ่งหากไม่มีเรื่องของการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนเราก็ยังอยู่กันได้” ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก ระบุ

นางพัชรินทร์ ผลกาจ ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก





กำลังโหลดความคิดเห็น