ประจวบคีรีขันธ์ - กศน.สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ ขับเคลื่อนโครงการบรรณสัญจร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งเสริมการอ่าน พร้อมตั้งกล่องรับบริจาคหนังสือส่งต่อห้องสมุดประชาชน และบ้านหนังสือชุมชน หวังเสริมสร้างแห่งการเรียนรู้ สู่ชุมชนรักการอ่าน
ที่หอประชุมใหญ่ที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการบรรณสัญจร (Book Voyage) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมการอ่าน พร้อมรับบริจาคหนังสือเพื่อส่งต่อห้องสมุดประชาชน และบ้านหนังสือชุมชน หวังเสริมสร้างแหล่งการเรียนรู้สู่ชุมชนรักการอ่าน โดย น.ส.กัญรินทร์ คิดควร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสามร้อยยอด เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีคณะครู และนักศึกษา กศน.อำเภอสามร้อยยอด ทั้ง 5 ตำบล เข้าร่วมกิจกรรม
น.ส.กัญรินทร์ คิดควร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน และมีมติให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน ซึ่งจากสถิติของสำนักสถิติแห่งชาติ รายงานผลสำรวจพบว่า การอ่านหนังสือของคนไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปีน้อยมาก ซึ่งแนวทางที่จะทำให้ประชาชนสนใจที่จะอ่านหนังสือมากขึ้น คือ ต้องเพิ่มแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชน และบ้านหนังสือชุมชน เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการส่งเสริมการอ่านให้แก่คนในชุมชน จึงเป็นที่มาของโครงการบรรณสัญจร ที่กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดำเนินการทั่วประเทศ
สำหรับกิจกรรมในวันนี้มุ่งเน้นการส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดความรักการอ่าน โดยจัดกิจกรรมเป็นฐานต่างๆ 5 ฐาน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทั้งฐานที่ส่งเสริมการอ่าน ฐานฝึกอาชีพ พร้อมกันนี้ ยังขยายโครงการสู่ชุมชนรักการอ่าน “สร้างการอ่าน เสริมการเรียนรู้” ในรูปแบบหมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการอ่าน อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน บ้านหนังสือชุมชน และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนเชิงรุกที่หลากหลาย ทันสมัย สร้างสรรค์ ต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการของประชาชน และชุมชน
รวมทั้งมีการบูรณาการความรู้ในชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับหลักสูตรต่างๆ ของ กศน. และใช้ทุนทางสังคมของแต่ละชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยใช้ กศน.ตำบลที่มีการดำเนินการอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแล้ว วันนี้ยังได้มีการนำอาชีพต่างๆ มาสอนให้แก่นักศึกษาที่สนใจอีกด้วย