กาฬสินธุ์ - พอช.สนับสนุนโครงการประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอีสานกลาง 6 จังหวัด 60 ตำบล มอบงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชน ประเดิมตำบลละ 70,000 บาท 4 กลุ่มการผลิต ข้าว เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเงิน ขณะที่ร้อยเอ็ดเตรียมจัดตั้ง “บริษัทประชารัฐ” เป็นแห่งที่ 6 ของประเทศ เพื่อเป็นบริษัทจัดการด้านการจำหน่ายและพัฒนาสินค้าชุมชน นำข้าวหอมมะลิทุ่งกุลามาแปรรูปเป็นผงพอกหน้าขาว เพิ่มมูลค่าเป็น กก.ละ 4,000 บาท
เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2559 ที่ห้องประชุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองห้าง จำกัด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการจัดงานสัมมนา “โครงการเศรษฐกิจฐานรากสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชุมชนคนอีสาน” โดยมีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านจากภาคอีสานตอนกลาง 6 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ประมาณ 300 คนเข้าร่วมงาน มีนายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นประธานในการสัมมนา
นายพลากร วงศ์กองแก้ว กล่าวว่า พอช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลหรือโครงการ “ประชารัฐ” ที่รวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมหรือภาคธุรกิจ เข้าร่วมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมหรือภาคธุรกิจไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากนั้น พอช.ก็ได้ลงไปสนับสนุนกลุ่มองค์กรชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
“โครงการประชารัฐคือการทำให้ประชาชนกับภาครัฐมาทำงานร่วมกัน โดยมีภาคธุรกิจมาร่วมสนับสนุน เช่น มาช่วยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มีความหลากหลายของสินค้า สามารถเพิ่มมูลค่าได้ รวมทั้งช่วยด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายให้แก่ชุมชน โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทประชารัฐฯ ขึ้นมาทุกจังหวัด รวม 76 บริษัททั่วประเทศ เพื่อช่วยด้านการบริหารและจัดการต่างๆ เป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งบริษัทประชารัฐขึ้นมาแล้ว 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต เพชรบุรี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุดรธานี และจะจัดตั้งอีก 1 แห่ง คือ ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้” ผอ.พอช.กล่าว
สำหรับบริษัทประชารัฐรักษามัคคี จำกัด นั้นเป็นแนวคิดของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ มีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน ดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้ชุมชนเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน เมล็ดพันธุ์ พัฒนาการบริหารจัดการ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ในชุมชน ช่วยหาช่องทางการตลาด ส่งเสริมให้มีการรับรู้ส่งข้อมูลข่าวสารสำคัญอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานของบริษัทประชารัฐจะเน้นธุรกิจการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่ และการท่องเที่ยวชุมชน เช่น ในจังหวัดภูเก็ตจะเน้นเรื่องการสร้างแบรนด์สับปะรดภูเก็ต ธุรกิจนมแพะ กุ้งมังกร ผ้าบาติก ฯลฯ ซึ่งบริษัทประชารัฐฯ ที่จัดตั้งขึ้นมานั้นจะมีฐานะเป็นบริษัทแม่ หรือโฮลดิ้ง เมื่อมีผลกำไรจากการดำเนินงานก็จะนำไปลงทุนหรือขยายผลต่อไป ไม่ใช่นำไปปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และต้องมีการบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท
ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้อำนวยการ พอช.ได้เป็นตัวแทนมอบงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนให้แก่ตัวแทนตำบลต่างๆ ในภาคอีสานกลาง รวม 60 ตำบล ตำบลละ 70,000 บาท รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 4,200,000 บาท แยกเป็นกลุ่มการผลิต 4 ด้าน คือ 1. ข้าว รวม 20 ตำบล 2. เกษตรอินทรีย์ รวม 15 ตำบล 3. วิสาหกิจชุมชน รวม 18 ตำบล และ 4. สถาบันการเงินชุมชน รวม 7 ตำบล โดยในปีนี้ พอช.ตั้งเป้าหมายจะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 1,500 ตำบลทั่วประเทศ ใช้งบประมาณรวม 550 ล้านบาท
สำหรับตัวอย่างการดำเนินงานของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น กลุ่ม Clusster ข้าว 20 ตำบล จะเริ่มจากการคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านเมล็ดพันธุ์ สร้างเศรษฐกิจจากข้าว และสืบสานฐานความรู้ชุมชน โดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่ม Cluster ข้าวจะมี 3 ระดับ ระดับเริ่มต้น ระดับปานกลาง และระดับก้าวหน้า โดยจะมุ่งพัฒนานักเทคนิคการพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชน ขยายและพัฒนาแปลงปฏิบัติการปลูกข้าวพันธุ์ดี พัฒนาระบบการติดตาม สนับสนุนกรระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การพัฒนากองทุน/ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน รวมถึงมุ่งสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับเครือข่ายจังหวัดให้เกิดการสรุปบทเรียน เกิดชุดความรู้ในการทำงาน
นายสว่าง สุขแสง ผู้ประสานงานเศรษฐกิจชุมชนตำบลหนองแคน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตำบลหนองแคนได้เริ่มงานเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ปี 2553 โดยได้รับการสนับสนุนจาก พอช.นำผลผลิตของชุมชน คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลามาสีในโรงสีชุมชน แล้วบรรจุกล่องสวยงามออกจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำข้าวหอมมะลิมาผสมสมุนไพร 7 ชนิด เช่น ไพล กวาวเครือ ว่านนางคำ ฯลฯ ผลิตเป็นผงพอกหน้าขาว (Jasmine Rice Powder Mask) บรรจุซองจำหน่าย ขนาด 15 กรัม ราคาซองละ 50 บาท มีสรรพคุณช่วยให้ใบหน้าและผิวหนังเต่งตึง และลดการอักเสบของสิวได้ด้วย
“การนำข้าวหอมมะลิมาผลิตเป็นผงพอกหน้า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่า จากข้าว 1 กิโลกรัม ราคาเพียง 120 บาท แต่เมื่อผลิตเป็นผงพอกหน้าสามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 4,000 บาท เดือนหนึ่งสามารถผลิตได้ 500 ซอง และขณะนี้ได้ส่งไปทดลองจำหน่ายที่ประเทศในยุโรป โดยใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ช่วยจัดจำหน่าย หากได้รับผลตอบรับที่ดีก็จะผลิตเพิ่มมากขึ้น และกำลังปรับปรุงการผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป” นายสว่างกล่าว
ตำบลหนองแคน ถือเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยใช้ผลผลิตของชุมชนคือข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่มีชื่อเสียงมาพัฒนาเป็นสินค้าต่างๆ ผงพอกหน้า สบู่ข้าวกล้อง สามารถผลิตข้าวได้เดือนละ 2 ตัน และยังมีการทอผ้าขาวม้าลายแคนบรรจุในกล่องสวยงาม สินค้าต่างๆ จะจัดจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ ผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และวางขายนักท่องเที่ยวที่โรงแรมเพชรรัตน์ โรงแรมชื่อดังในจังหวัดร้อยเอ็ด มีชาวบ้านในตำบลเข้าร่วมการผลิตสินค้าชุมชนประมาณ 150 ครอบครัว สามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มประมาณเดือนละ 20,000 บาท
สำหรับงบสนับสนุนเบื้องต้นจำนวน 70,000 บาทที่ได้รับจาก พอช.นั้น นายสว่างกล่าวว่า ชุมชนจะนำไปพัฒนาสินค้าและเชื่อมโยงการผลิตด้านต่างๆ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ชุมชนตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างรายได้เข้าตำบลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือน หากเป็นไปตามเป้าก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจในตำบลจะหมุนเวียนดีขึ้น
นายสมนึก จิตรจักร์ แกนนำพัฒนาตำบลหนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตำบลหนองห้างมีแผนงานที่จะขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะพื้นที่ในตำบลมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถจะพัฒนาได้หลายอย่าง เช่น ถ้ำฝ่ามือแดงซึ่งเป็นรอยประทับมือสีแดงของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณภูผาผึ้ง คล้ายกับภาพที่ภูผาแต้ม จ.อุบลราชธานี, พระพุทธรูปปากแดง, ธรรมมาสน์เสาเดียวอายุกว่า 100 ปี ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีเสมาหินสมัยทราวดีจำนวนหลายสิบชิ้นที่แกะสลักเป็นเรื่องราวความเชื่อในสมัยโบราณ ขุดพบในทุ่งนาเมื่อหลายสิบปีก่อน คาดว่าเดิมพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตหินเสมาที่สำคัญแห่งหนึ่งซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้นำเสมาหินเหล่านี้ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถาน จ.ขอนแก่น ปัจจุบันหินเสมาส่วนหนึ่งยังคงเหลือและจัดเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัย ต.หนองห้าง
“นอกจากจะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์แล้ว ตำบลหนองห้างยังมีเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทหลายอย่างที่ยังคงรักษาเอาไว้ เช่น ขนบธรรมเนียมและประเพณีวัฒนธรรมหลายอย่าง ทั้งการฟ้อนผู้ไท พิธีเหยา การแต่งตัว การยึดถือและปฏิบัติตัวตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ งานฝีมือจักสาน การทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้ ซึ่งงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 70,000 บาทนี้ ทางตำบลจะนำมาพัฒนาที่พักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านให้มีมาตรฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป” นายสมนึกกล่าวในตอนท้าย