กาฬสินธุ์ - พบถนนบริเวณบ้านน้อยบึงอร่าม ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดทรุดตัวเป็นหลุมลึกยาวกว่า 300 เมตร ชาวบ้านหวั่นเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ผอ.ทางหลวงชนบทที่ 16 ระบุสาเหตุเกิดจากปัญหาภัยแล้งและระดับน้ำลดอย่างรวดเร็ว
วันนี้ (25 พ.ค. 59) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในตำบลคลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ว่าถนนสายเลียบคลองชลประทานเขื่อนลำปาว บริเวณบ้านน้อยบึงอร่าม ต.คลองขาม อ.ยางตลาด เกิดปัญหาทรุดตัวและเป็นหลุมลึก ระยะทางยาวกว่า 300 เมตร อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาซ่อมแซมโดยด่วน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านเกรงว่ารถที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวจะเกิดอุบัติเหตุ
จากตรวจสอบพบว่าเป็นถนนลาดยางเลียบคลองชลประทานเขื่อนลำปาว ตั้งแต่บริเวณสามแยกบ้านน้อยบึงอร่าม ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ทางลัดไปยัง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างของผู้รับเหมาถนนเกิดทรุดตัวและเป็นหลุมลึกระทางยาวกว่า 300 เมตร ยานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมาค่อนข้างลำบากเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ชาวบ้านสันนิษฐานว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากน้ำในคลองชลประทานที่อยู่ติดถนนลดลงอย่างรวดเร็ว หรือไม่ก็เป็นการบดอัดดินไม่หนาแน่น ถนนจึงเกิดทรุดตัว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบมีป้ายระบุว่า การก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นของสำนักงานแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ เป็นงานโครงการบูรณะผิวทางลาดยาง สาย กส.4064 แยกทางหลวงหมายเลข 2416-บ้านน้อยบึงอร่าม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ระยะทาง 1,600 เมตร ผู้รับจ้างคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองคอนกรีต ระยะเวลา 120 วัน เริ่มต้น 26 ธันวาคม 2558 สิ้นสุด 23 เมษายน 2559 ค่าก่อสร้าง 6,600,000 บาท มีนายเฉลิมชัย ฉายวิไชย นายช่างโยธาชำนาญงาน เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งกำลังก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน
ด้านนายแอ๊ด เพชรฤทธิ์ ผอ.สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 16 ซึ่งรักษาการผอ.สำนักงานแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีถนนดังกล่าวเป็นการดำเนินการของสำนักงานแขวงทางหลวงชนบทกาฬสินธุ์ เป็นงานบูรณะผิวทางลาดยาง สาย กส.4064 แยกทางหลวงหมายเลข 2416-บ้านน้อยบึงอร่าม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ระยะทาง 1,600 เมตร ผู้รับจ้างคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.รุ่งเรืองคอนกรีต ระยะเวลา 120 วัน เริ่มต้น 26 ธันวาคม 2558 สิ้นสุด 23 เมษายน 2559 ค่าก่อสร้าง 6,600,000 บาท
ทราบว่าเกิดความเสียหายระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากดินใต้พื้นทางและลาดไหล่ทางเกิดทรุดตัวและเคลื่อนตัวเป็นหลุมเป็นระยะทางยาวกว่า 300 เมตร สาเหตุเบื้องต้นเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและการระบายน้ำการเปลี่ยนระดับน้ำในคลองชลประทานเขื่อนลำปาวแบบกะทันหัน ประกอบกับคุณสมบัติของดินใต้พื้นทางบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีความหนาประมาณ 4-5 เมตร เป็นดินอ่อน ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับความเสียหายถนนทรุดตัวที่เกิดขึ้นในภาคกลาง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าเจาะสำรวจดินใต้พื้นทางแล้ว เพื่อดำเนินการแก้ไขและออกแบบใช้วัสดุด้านวิศวกรรม เพื่อซ่อมแซมและสามารถรับน้ำหนักทำให้ถนนสายดังกล่าวกลับมาใช้ประโยชน์ต่อไป