xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวปรังเผล” ร้อง “นอภ.สังขละบุรี” อช.เขาแหลม ปักหลักแนวเขตอุทยานฯ ทับที่โฉนดที่การไฟฟ้าฯ จัดสรรให้ยุคผุดเขื่อนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ชาวพื้นที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอสังขละบุรี ให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปักหลักแนวเขตอุทยานฯ ตามโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐทับที่โฉนดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดสรรให้จากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (25 พ.ค.) ที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นายนิยม กลิ่นมณฑา กำนันตำบลปรังเผล พร้อมผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 4 และชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คนเข้าพบ นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เข้าไปปักหลักแนวเขตอุทยานฯ ตามโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ทับซ้อนโฉนดที่ดินชาวบ้าน จำนวน 42 แปลง แปลงละ 14 ไร่ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จัดสรรให้จากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ในปี พ.ศ.2535 และทับซ้อนพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์

ทั้งนี้ นายปกรณ์ ได้เชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มาชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ เข้าร่วมรับฟัง การประชุมใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี เปิดเผยภายหลังว่า วันนี้ตัวแทนชาวบ้าน พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ตำบลปรังเผล ประมาณ 100 คน ได้เดินทางมาพบเพื่อให้ทางอำเภอช่วยตรวจสอบหลักเขตที่ทางอุทยานฯ ดำเนินการตามโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ทำพร้อมกันทั่วประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดประมาณเดือนกันยายนนี้

ครั้งนี้ตนได้ขอให้ชาวบ้านส่งตัวแทนขึ้นไปเจรจากันที่ห้องประชุม โดยใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ซึ่งในที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ขอให้ทางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นำหลักแนวเขตที่ไปปักทับซ้อนพื้นที่ดินที่เป็นโฉนดของชาวบ้านออกไปก่อน เพื่อที่ชาวบ้านจะได้สบายใจ ส่วนหลักแนวเขตที่นำไปปักทับในที่ดินทำกินที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ ก็ให้คงไว้ดังเดิม เพื่อรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อนว่าที่ดินอยู่ในเขตอะไรกันแน่ แต่ถ้าหากมั่นใจว่าที่ดินของตนอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ ก็สามารถทำกินต่อไปได้

แต่ตนก็ได้ให้นโยบายกับกำนัน และผู้ใหญ่บ้านไปแล้วว่า หากชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปจับกุม เบื้องต้น ก็ขอให้ใช้ตำแหน่งประกันตัวลูกบ้านออกมาเพื่อต่อสู้คดี อย่างน้อยชาวบ้านก็จะไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ส่วนเรื่องคดีก็ขอให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็สร้างความพอใจให้แก่ประชาชนในระดับหนึ่ง

สำหรับเอกสารที่ชาวบ้านยื่นแนบมา ประกอบด้วย สำเนาโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) สำเนาพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ พ.ศ.2518 สำเนาโฉนดที่ดินของชาวบ้าน และภาพถ่ายหลักเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ที่ปักในที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งตนจะรีบรายงานให้ นายศักดิ์ สมบุญโต ผวจ.กาญจนบุรี ได้ทราบเพื่อสั่งให้ทางอำเภอดำเนินการต่อไป

ด้าน นายนิยม กลิ่นมณฑา กำนันตำบลปรังเผล เปิดเผยว่า การเดินทางมาพบ นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี ในครั้งนี้ เพื่อยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ทับซ้อนกับเขตนิคมสหกรณ์ในเขตพื้นที่ ต.ปรังเผล เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตนได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ว่า มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เข้ามาดำเนินการปักหลักเขตอุทยานฯ โดยที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้แจ้งให้ผู้ปกครองท้องที่ และชาวบ้านได้รับทราบมาก่อน

ซึ่งหลักเขตของอุทยานฯ ได้ปักทับในที่ดินบางแปลงที่มีเอกสารสิทธิ โฉนดที่ดิน ที่ได้มาจากแปลงจัดสรรครอบครัวละ 14 ไร่ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดสรรให้แก่ประชาชน ในสมัยสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งบังคับใช้ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2535 และบางแปลงเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านเดิมที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ เมื่อชาวบ้านพบว่า มีการนำหลักเขตมาปักทับซ้อนพื้นที่ ชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน จึงรวมตัวมาแจ้งให้ตนทราบ

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลาประชาคมหมู่ 1 ต.ปรังเผล ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มารวมตัวกันเพื่อฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้กล่าวชี้แจงว่า ได้มาดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินรัฐ (One Map) โดยอุทยานฯ ได้มาปักหลักในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมตามหลักฐานแผนที่แนวเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

หากหลักเขตใดอยู่ในแปลงที่มีเอกสารสิทธิก็ขอให้ประชาชนถ่าย และนำเอกสารสิทธิมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อจะได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนการดำเนินการครั้งต่อไปจะแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนทุกครั้งก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าพื้นที่ ซึ่งการชี้แจงในวันดังกล่าวทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกคนเกรงว่าที่ดินที่มีอยู่จะถูกยึด และจะทำให้เดือดร้อนเหมือนสมัยที่สร้างเขื่อนอีก ทุกคนจึงพร้อมใจกันเดินทางมาพบ นายปกรณ์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น