xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฝึกผสมกองทัพเรือไทย-จีน “BLUE STRIKE 2016” ที่สัตหีบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดฝึกผสม กองทัพเรือไทย-จีน” BLUE STRIKE 2016” ที่ อ.สัตหีบ
ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดฝึกผสมกองทัพเรือไทย-จีน “BLUE STRIKE 2016” ที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการฝึกซ้อม โดยมีกำลังพลร่วมฝึกซ้อมครั้งนี้เกือบ 1,000 นาย

วันนี้ (21 พ.ค.) พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.Wanghai รองผู้บัญชาการทหารเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกผสมกองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน BLUE STRIKE 2016 ณ หน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และมีพิธีปิดการฝึกในวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี

สำหรับการฝึกผสมเป็นความร่วมมือด้านการฝึกระหว่างกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สืบเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2548 ได้ทำการฝึกผสม PASSEX (Passing Exercise : การสื่อสารระหว่างเรือที่เข้าร่วมฝึก) เป็นครั้งแรก โดยกองทัพเรือไทย จัดเรือหลวงเจ้าพระยา เข้าร่วมการฝึกฯ กับเรือรบกองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือ SHENZHEN (DDG-167) และเรือ WEISHANHU (AOR-887)

โดยต่อมา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน/กรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะเจ้ากรมข่าวทหารเรือ และหารือความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการฝึกผสมระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินของทั้ง 2 ประเทศ จนมีข้อยุติตรงกันที่จะให้มีการฝึกร่วมในแบบค่อยเป็นค่อยไป และสลับกันเป็นเจ้าภาพ กระทั่งมีการฝึกร่วมครั้งแรกภายใต้รหัสการฝึก BLUE STRIKE 2010

สำหรับในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ พัฒนาความร่วมมือ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการฝึก รวมทั้งเพิ่มพูนขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันทางยุทธวิธี ระหว่างหน่วยเข้าร่วมการฝึก และพัฒนาหลักนิยมในการรบตามสาขาปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง

เช่น การยิงทดสอบจรวดนำวิถีป้องกันภัยทางอากาศ QW-1/QW-18 การฝึกแลกเปลี่ยนยุทธวิธี (CTX) การโจมตีโฉบฉวยด้วยเรือยาง การปฏิบัติการร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ และยุทธวิธีทหารราบยานเกราะ การรบในเมือง การรบในระยะประชิด การตรวจจับอาวุธเคมีและการเก็บกู้วัตถุระเบิด การปฐมพยาบาลสนาม การยิงปืนฉับพลันและการยิงประกอบการเคลื่อนที่ การยิงปืนพกและปืนลูกซองทางยุทธวิธี การยิงปืนเล็กยาว ปืนกล และปืนเล็กกล การฝึกดำเนินยุทธระดับหมู่ปืนเล็ก และการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง

โดยการฝึกฝ่ายไทยส่งกำลังพลเข้าร่วม 500 นาย ฝ่ายจีน 270 นาย สำหรับยุทโธปกรณ์ที่สำคัญฝ่ายไทย ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ยานเกราะล้อยาง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง จรวดนำวิถี QW-18 ส่วนยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของฝ่ายจีน ประกอบด้วย เรือยกพลขึ้นบกแบบอู่ลอย เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง เรือเร็วท้องแข็ง เรือยาง รถจู่โจมหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ 05 และรถรบทหารราบหุ้มเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก
มีกำลังพลร่วมฝึกซ้อมครั้งนี้เกือบ 1,000 คน
การฝึกซ้อมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการฝึกซ้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น