ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรสรุปผลการดำเนินการตามความร่วมมือกับกองทัพอากาศในปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2559 ระบุสามารถลดผลกระทบและความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว่า 8.8 แสนไร่ทั่ว 15 จังหวัดภาคเหนือ ขณะที่ปฏิบัติการฝนหลวงยังเดินหน้าตามปกติ เน้นพื้นที่ต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ คาด มิ.ย. 59 น้ำเริ่มไหลเข้าเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
วันนี้ (19 พ.ค. 59) ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก นพนันท์ เกิดศิริ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนการวิจัยยุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศ, นาวาอากาศเอก ชาตินนท์ สท้านไผท ผู้บังคับการกองบิน 41 และนางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการพลับ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ รวมทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2559 และปิดปฏิบัติการร่วมดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการนี้กองทัพอากาศสนับสนุนนักบิน พร้อมเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรือเครื่องบินอัลฟาเจ็ต (Alpha Jet) จำนวน 2 เครื่อง โดยมีฐานปฏิบัติการที่กองบิน 41 เชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดลูกเห็บ ด้วยการใช้พลุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ กำหนดปฏิบัติการในช่วงฤดูร้อนระหว่างวันที่ 21 มี.ค. 59-20 พ.ค. 59 โดยการขึ้นบินปฏิบัติการจะประเมินผลด้วยระบบเรดาร์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไตตันที่มีความแม่นยำในการตรวจวัดสูงสุดในประเทศไทย และติดตั้งไว้ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หากตรวจพบแนวโน้มและโอกาสกลั่นตัวของเมฆที่จะเกิดเป็นพายุลูกเห็บแล้ว จะมีการบันทึกข้อมูลลงแผนที่และส่งเครื่องบินขึ้นปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือ
นายเลอศักดิ์เปิดเผยว่า ภาพรวมการปฏิบัติการตามโครงการความร่วมมือดังกล่าวในปีนี้ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจากการเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 59 ถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้นประมาณ 60 วัน ได้มีการขึ้นปฏิบัติการ 16 วัน รวมจำนวนชั่วโมงบิน 29 ชั่วโมง และใช้พลุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ทั้งสิ้น 793 นัด มากกว่าทุกปีที่ใช้ไม่เกิน 500 นัด ครอบคลุมพื้นที่ 888,525 ไร่ หรือประมาณ 1,422 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถลดผลกระทบและความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินของประชาชนจากพายุลูกเห็บได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ หากไม่มีปฏิบัติการนี้คาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะมากกว่านี้หลายเท่าตัว สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2559 นั้น โดยหลักการในเวลานี้จะต้องมีการยุติปฏิบัติการลงแล้วเนื่องจากเริ่มย่างเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกลงมาตามฤดูกาลปกติและโอกาสการเกิดพายุลูกเห็บลดลงแล้ว ซึ่งคาดว่ากรมอุตุนิยมวิทยาน่าจะประกาศการย่างเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แนวโน้มต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงตามปกตินั้น อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรบอกว่า ขณะนี้ยังคงมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตามปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ โดยภาพรวมปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ายังค่อนข้างน้อย และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนในช่วงที่ผ่านมามีไม่มากนัก เพราะเป็นฝนที่ตกในช่วงที่พายุแปรปรวน รวมทั้งสภาพดินที่แห้งแล้งขาดน้ำมานาน จึงมีการดูดซับน้ำไว้มากจนกว่าจะอิ่มตัว คาดว่าเมื่อมีฝนตกต่อเนื่องและมากขึ้นจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นไป