xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีป่าไม้บุกเขาหัวโล้นน่าน พุ่งเป้าใช้กฎหมายจัดการนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - อธิบดีกรมป่าไม้ยกคณะลงพื้นที่เขาหัวโล้นเมืองน่าน เปิดยุทธการบังคับใช้กฎหมายกับคนรุกป่า พุ่งเป้าจัดการนายทุน-เยียวยาเกษตรกรผู้ยากไร้ รับอนาคตอาจพิจารณาออกหนังสือรับรองการใช้ที่ดินทำกินทับที่ป่า แต่ต้องขอคืนพื้นที่ต้นน้ำที่ถูกบุกรุกหลังปี 57 ก่อน

วันนี้ (18 พ.ค.) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ขุนห้วยต้าม บ้านเปา หมู่ที่ 5 ต.น้ำตก อ.นาน้อย จ.น่าน เพื่อ “เปิดยุทธการบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุกรุกผืนป่าน่าน” พร้อมตรวจสอบพื้นที่ขอคืนกว่า 230 ไร่ที่ถูกบุกรุก ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเป็นการบุกรุกใหม่ในช่วงปี 2556-2558 เพื่อขยายพื้นที่ทำกิน เบื้องต้นจะต้องมีการตรวจสอบและคัดกรองราษฎรในพื้นที่ขอคืนดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มนายทุน หรือกลุ่มเกษตรกรผู้ยากไร้

นายชลธิศระบุว่า หากเป็นกลุ่มนายทุนจะต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาด แต่หากเป็นกลุ่มผู้ยากไร้จะต้องใช้มาตรการเยียวยาฟื้นฟูต่อไป โดยอาจจะเป็นการใช้ระบบวนเกษตรเข้าส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และสามารถอยู่ได้โดยไม่มีการบุกรุกผืนป่าเพิ่มอีก ป้องกันรักษาป่าที่เหลืออยู่ไม่ให้ถูกบุกรุกเพิ่ม และเป็นการทำให้ที่ดินเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ จำแนกสภาพพื้นที่ป่าว่าจะเป็นป่าฟื้นฟู ป่าวนเกษตร หรือที่ทำกิน โดยจะกำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2559 เพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลพิจารณาบังคับใช้ในปี 2560

ส่วนปัญหาเรื่องที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าที่ยังติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายกรมป่าไม้ ซึ่งทางจังหวัดน่าน กำลังหาทางออก โดยใช้ช่องทางของ คทช. และตาม ม.19 ในอนาคตเป็นไปได้ว่าทางกรมป่าไม้จะพิจารณาเพื่อออกเป็นหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และรอบด้าน โดยมีเงื่อนไขต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในหลักการปฏิบัติงาน แต่ต้องเน้นความเป็นธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชน และโดยหลักการต้องขอคืนพื้นที่ป่า ที่ถูกบุกรุกหลังปี 2557 เพื่อนำมาฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่านให้ได้

ด้านนายไพฑูรย์ วงศ์วีรกูล นายอำเภอนาน้อย เปิดเผยว่า พื้นที่ทำกินของราษฎรในอำเภอนาน้อย ส่วนใหญ่ทับซ้อนในพื้นที่ป่าสงวนฯ การฟื้นฟูป่าต้องใช้การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และมีทางออกในเรื่องพืชเศรษฐกิจที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด โดยเฉพาะการส่งเสริมพืชทางเลือกต้องมีตลาดรองรับชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรต้องโค่นล้มต้นมะขามหวานทิ้งมาแล้ว เนื่องจากตลาดรับซื้อไม่แน่นอน และหันไปปลูกข้าวโพดซึ่งมีตลาดที่แน่นอนกว่าจึงเกิดปัญหาในการบุกรุกและขยายพื้นที่ทำกิน




กำลังโหลดความคิดเห็น