xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมมลพิษร่วม ม.เกษตรฯ ศรีราชา สร้าง Application เฝ้าระวังการลักลอบทิ้งขยะอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมมลพิษ ร่วม ม.เกษตรฯ ศรีราชา สร้าง Application  เฝ้าระวังการลักลอบทิ้งขยะอันตรายชุมชนเขตภาคตะวันออก
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ ม.เกษตรฯ ศรีราชา สร้าง Application “HW network” เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งขยะอันตรายชุมชนเขตภาคตะวันออก และกากอุตสาหกรรม โดยทุกองค์กรมีส่วนร่วม หากประสบผลสำเร็จพร้อมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ห้องเธียเตอร์ชั้น 4 อาคาร 14 หอสมุดอนุสรณ์ 10 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานเปิดโครงการการพัฒนาระบบเครือข่ายเสริมกำลังด้านการจัดการปัญหาขยะอันตรายชุมชนเขตภาคตะวันออก โดยมี ดร.สมจิตต์ ปาละกาศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา คณะอาจารย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในภาคตะวันออก ร่วมเปิดโครงการนี้

ดร.สมจิตต์ ปาละกาศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้สนับสนุนงบประมาณให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขคศรีราชา ดำเนินโครงการฯ พัฒนา Application เพื่อสร้างเครือข่ายในการแจ้งข้อมูลการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายแก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย และช่วยลดผลกระทบที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนเขตภาคตะวันออก

โครงการดังกล่าวฯเป็นการให้ความรู้ วิธีการจัดการขยะอันตรายอย่างถูกต้อง สร้างความตระหนักแก่ชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้และการใช้ระบบฯ แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเครือข่าย เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว พร้อมทั้งจัดทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่ด้านขยะอันตราย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลักลอบทิ้งขยะอันตราย

ดร.สมจิตต์ กล่าวต่อว่า สำหรับในวันนี้เพื่อเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะ พร้อมร่วมกันพัฒนา Application “HW network” และประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้จัดทำ Application ดังกล่าวขึ้นมา แต่ยังไม่ครอบคลุมแนวทางการป้องกันดูแลปัญหาด้านการลักลอบทิ้งขยะกากของเสียอันตราย จึงมารับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ทางกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ประสานงานโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในการเฝ้าระวังปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายชุมชน ขยะกากของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี มีปัญหาการลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรมมากที่สุด รองลงมาตามลำดับ คือ ระยอง สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา

ดังนั้น โครงการดังกล่าว จึงเริ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นจุดนำร่องในการเฝ้าระวังปัญหา และหากโครงการประสบผลสำเร็จก็พร้อมขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ และพร้อมขยายการเฝ้าระวังในครอบคลุมไปในทุกด้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น บนบก ในแหล่งน้ำ ทะเล และอากาศต่อไป

ด้าน นายเมธี จันทโรปกรณ์ หัวหน้าภาควิชาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จำนวนกว่า 4 ล้านบาท ในการจัดทำ Application “HW network” และซอฟต์แวร์เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบการทิ้งขยะอันตรายชุมชนเขตภาคตะวันออก การลักลอบทิ้งกากสารพิษจากอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือโดยสามารถโหลด Application ดังกล่าวลงไปในมือถือ และเมื่อพบมีการลักลอบทิ้งขยะอันตราย หรือกากสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถถ่ายรูปพร้อมส่งข้อมูลดังกล่าว ซึ่งข้อมูลนั้นจะต่อเชื่อมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และติดตามผู้ที่กระทำผิดต่อไป

ขณะนี้ Application ดังกล่าวจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพราะที่ผ่านมา เน้นประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบกับส่วนกลาง ดังนั้น จะต้องประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก อุตสาหกรรมจังหวัดในแต่ละจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์
ดร.วิจารย์  สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  เป็นประธานเปิดโครงการ
มีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมเปิดโครงการนี้
หน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมเสนอรูปแบบ เพื่อพัฒนารูปแบบโครงการให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น