xs
xsm
sm
md
lg

“แม่น้ำลำภาชี” แห้งขอดหนักสุดในรอบ 40 ปี กระทบชาวราชบุรีไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราชบุรี - ปัญหาวิกฤตภัยแล้งกระทบหนัก ส่งผล “แม่น้ำลำภาชี” ที่ไหลผ่านเขตอำเภอสวนผึ้ง-อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ไปบรรจบลำน้ำแควน้อยที่เมืองกาญจน์ แห้งขอดในรอบ 40 ปี เกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบขาดน้ำการเกษตร และอุปโภคบริโภค

แม่น้ำภาชี เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในทางตะวันตกของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ประกอบด้วย ลำธารหลายสายมารวมกัน ไหลผ่านเขต อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ไปบรรจบลำน้ำแควน้อยที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แม่น้ำสายนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเกษตรกรรม พร้อมทั้งการอุปโภคบริโภคแก่ประชากรที่อาศัยอยู่สองฝั่งน้ำอย่างมาก

แต่ในขณะนี้พื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำในแม่น้ำลำภาชี แห้งขอดพื้นดินแตกระแหง ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ราบสลับภูเขา มีแม่น้ำลำภาชีไหลผ่าน มีดินร่วนปนทราย และดินดำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าเก่าเหมาะแก่การเกษตรปลูกพืชผักผลไม้ ซึ่งแม่น้ำภาชีสายนี้เป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนมาโดยตลอด

แต่ปัจจุบัน น้ำในแม่น้ำลำภาชี แห้งขอด ดินแตกระแหงไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างที่ต้องการ เกษตรกรบางรายหันมาใช้พืชทนแล้ง แต่ก็ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในรอบ 40 ปี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตที่ผ่านมา

นายกุศล จตุรพิธพร อายุ 57 ปี ข้าราชการครูโรงเรียนด่านทับตะโกราษฎร์อุปถัมป์ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบุง จ.ราชบุรื กล่าวว่า สำหรับแม่น้ำภาชีในตอนนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตในรอบ 40-50 ปี ตั้งแต่มารับราชการที่นี่ บริเวณที่ยืนอยู่ตรงนี้ถ้าไม่เจอภัยแล้งน้ำที่ผ่านมาจะค่อนข้างอุดมสมบูรณ์แม้กระทั่งในช่วงหน้าแล้ง ในช่วงที่ฝนยังไม่ตกแม่น้ำเส้นนี้ถือว่าเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงประชากรชาวไร่ ชาวนาบริเวณนี้ที่จะทำให้มีรายได้ในส่วนของการผลิตพืชผลทางการเกษตร แตในปัจจุบันนี้ ปัญหาเกิดขึ้นขนาดที่ว่าเกษตรกรบางรายต้องหลีกเลี่ยงมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยถือว่าประสบปัญหาภัยแล้งที่สุดในรอบหลายสิบปี

สำหรับแม่น้ำเส้นนี้หล่อเลี้ยงประชากรเริ่มตั้งแต่รอยต่อระหว่างราชบุรี กับเพชรบุรี เขตเขาย้อย มาที่สวนผึ้ง บ้านคา ผ่านด่านทับตะโก ไปจนถึงเส้นแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับของเรื่องการอุปโภคบริโภค คิดว่าองค์กรของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. หรือหน่วยงานของภาครัฐ หรือว่าส่วนของทหารที่มีส่วนเข้ามาช่วยก็คงจะบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง แต่ในเรื่องของการหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร หรือว่าการทำมาหากินของชาวด่านทับตะโก กำลังดำเนินการ คงจะต้องหวังพึ่งฝนแล้ง ฝนเทียม เพราะว่าถ้าฝนไม่ตกตามฤดูกาลภัยแล้งตรงนี้ก็จะนำมาสู่ปัญหาวิกฤตที่ค่อนข้างรุนแรง



กำลังโหลดความคิดเห็น