เชียงใหม่/ลำพูน - ชาวสวนหลายอำเภอของลำพูนน้ำตาตก หมดทางแก้ ต้องยืนดูสวนลำไยพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดฯ แห้งตายต่อหน้าต่อตา หลังแม่น้ำลำคลอง ยันบ่อบาดาลที่ขุดไว้แห้งขอดไม่มีน้ำพอรดสวน ขณะที่อธิบดีกรมฯ น้ำ ยันน้ำบาดาล 27 แอ่งทั่ว ปท.มีมากกว่า 1 แสนล้าน ลบ.ม.พอใช้แน่ แต่ต้องบริหารให้ดี
วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองสายหลัก รวมถึงน้ำบาดาลในพื้นที่ลำพูนแห้งขอดลง ส่งผลกระทบถึงชาวสวนลำไยหลายอำเภอในขณะนี้ เช่น อำเภอบ้านธิ อำเภอป่าซาง อำเภอลี้ อำเภอเมืองบางส่วน เนื่องจากไม่มีน้ำรดสวน ทำให้ลำไยยืนต้นตายต่อหน้าต่อตา โดยเฉพาะ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ มีลำไยยืนต้นตายจำนวนกว่า 100 ไร่ ประมาณ 4,000 ต้น หากรวมทั้งจังหวัดแล้วคาดว่าน่าจะมีลำไยยืนต้นตายไปแล้วมากกว่า 500 ไร่ เกิน 1 หมื่นต้น
นายพิง วงค์ศ์คม รองนายกฯ อบต.ห้วยยาบ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ทำให้ชาวสวนลำไยในพื้นที่ ต.ห้วยยาบ เดือดร้อนกันมาก และไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน คือ ในพื้นที่ไม่มีน้ำที่จะนำไปใส่สวนเลย ทำให้ลำไยใบแห้งเหี่ยวยืนต้นตายจำนวนมาก และที่เหี่ยวกำลังจะตายอีกมากเช่นกัน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ไร่ ลำไยเสียหายหลายพันต้น
ในส่วนของอ่างเก็บน้ำ กรป.กลาง ที่ขุดไว้นานหลายสิบปีก็เริ่มตื้นเขิน ไม่พอที่จะสูบรดสวน คาดว่าอีกไม่เกิน 7 วัน น้ำในอ่างนี้ก็จะหมดแล้ว ซึ่งชาวสวนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร คงต้องปล่อยให้ลำไยตายไปต่อหน้าต่อตา ปีนี้คงแก้ไขอะไรไม่ทันแล้วก็ต้องยอมขาดทุนกันไป บางคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัวน้ำตาตกกันเลย
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาก็คือ ชาวบ้านอยากให้มีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ กรป.กลาง ที่อยู่ท้ายหมู่บ้าน แต่ติดตรงที่ไม่มีงบประมาณ ก็อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยชาวบ้านด้วย หรือจะทำอ่างเก็บน้ำเพิ่มพวกเราก็ยินดี
ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นก็อยากให้นำรถน้ำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ต.ห้วยยาบ และใกล้เคียงให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจสวนลำไยพื้นที่ อ.ลี้ อ.ป่าซาง และ อ.เมือง บางส่วน พบว่า เริ่มประสบปัญหาเดียวกัน มีลำไยยืนต้นตายจำนวนมาก และที่ใบเริ่มเหี่ยวรอวันตายอีกจำนวนมากเช่นเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนที่แม้จะมีบ่อบาดาล แต่น้ำใต้ดินก็เริ่มลดระดับลงจนทำให้บางบ่อไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ ส่วนน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ นั้นได้แห้งเหือดไปนานหลายเดือนแล้ว
ด้าน นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ที่เดินทางมาร่วมหาแนวทางในการพัฒนาขุดบ่อน้ำบาดาลกับช่างเจาะน้ำบาดาล และสมาชิกสมาคมน้ำบาดาลไทย ที่เชียงใหม่ สุดสัปดาห์นี้ยืนยันว่า ปัจจุบันมีน้ำบาดาลจากทั่วประเทศทั้งหมด 27 แอ่ง มีปริมาณน้ำมากถึง 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณการใช้ทั่วประเทศมีเพียง 3-4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
นายสุพจน์ บอกว่า แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงแต่ยังมีน้ำใต้ดินเพียงพอ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการคำนวณต้นทุนน้ำในแต่ละพื้นที่ในสมดุลกัน ซึ่งปัจจุบัน มีบ่อบาดาลที่มีการขออนุญาตถูกต้องทั้งของภาครัฐ เอกชน มากเกือบ 2 แสนบ่อ และยังมีบ่อบาดาลน้ำตื้นอีกนับแสนบ่อที่ไม่ได้มีการขออนุญาต
ซึ่งการขอขุดบ่อบาดาล ปัจจุบัน ลดขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้นใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากอดีตใช้เวลานานถึง 90 วัน ปัจจุบัน เกิดปัญหาภัยแล้งเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยการขุดเจาะ หรือตอกบ่อน้ำบาดาลตามพื้นที่การเกษตร ความลึกตั้งแต่ 15 เมตร ขึ้นไปต้องมีขออนุญาต
“ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลบ่อบาดาลทั้งหมดทั่วประเทศที่ไม่ขออนุญาต เพื่อจะได้คำนวณปริมาณการใช้น้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้น้ำ เพราะในอดีตปี 2520 กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ใช้น้ำเกินสมดุลสูงถึง 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ควบคุม การขุดเจาะต้องมีการขออนุญาตตามขั้นตอน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”
ขณะที่ นายศุภผล จริงจิตร นายกสมาคมน้ำบาดาลไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาการขออนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาลยากมาก ใช้เวลานานเกินไป จึงอยากให้มีการลดขั้นตอนในการขอให้เร็วขึ้นเพื่อที่จะได้ทันต่อสถานการณ์ของการใช้น้ำ ซึ่งน้ำคือ ชีวิต และมีความจำเป็น