อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และหัวหน้าทีมประชารัฐภาคเอกชน ลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามความคืบหน้า “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ”
วันนี้ (10 เม.ย.) นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และภาคเอกชน นำโดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม เดินทางมายัง จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จ.เพชรบุรี โดยมี นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.เพชรบุรี น.ส.สุวรรณา ตรีสิทธิเดช พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี และหัวหน้าส่วนราชการต้อนรับ
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายอภิชาติ พร้อมด้วยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้กล่าวแนะนำคณะทำงาน และชี้แจงกรอบการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยมี นายฐาปน ร่วมชี้แจงถึงแนวทางการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ
นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.เพชรบุรี กล่าวว่า จ.เพชรบุรี มีศักยภาพที่โดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว ที่ซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีส่วนประกอบที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญทางด้านการเกษตร จ.เพชรบุรี มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีมูลค่าที่สูง เช่น ข้าว ตาลโตนด มะนาว ชมพู่เพชรสายรุ้ง กล้วยหอมทอง
นอกจากนั้่น ยังเป็นเมืองที่มีศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ แรงงาน และทำเลที่ตั้ง อีกทั้งยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำการประกอบการทางด้านสินค้าชุมชน หรือ OTOP จำนวนมากถึง 274 ราย 978 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์โอทอปที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เช่น น้ำตาลโตนด ขนมหวาน และป่านศรนาราย์
สำหรับเศรษฐกิจฐานราก และประชารัฐ จ.เพชรบุรี ประกอบไปด้วย 8 กลุ่มหลัก คือ ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านดอนผิงแดด ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม กลุ่มท่องเที่ยวดูนกและสถาบันการเงินชุมชน ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม กลุ่มข้าวอินทรีย์ศูนย์ข้าวชุมชน ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด กลุ่มผักผลไม้แปรรูปไวน์ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำเสือ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลและท่องเที่ยว ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม และกลุ่มขนมหวานพื้นเมือง ต.บ้านหม้อ อ.เมืองเพชรบุรี
ผวจ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปัญหาที่พบก็คือ ผลผลิตการเกษตรหลักไม่คงที่ แนวโน้มปัจจัยการผลิตและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ขาดการพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ขาดการพัฒนามาตรฐาน และคุณภาพของสินค้าเกษตรแปรรูป การรวมกลุ่มของเกษตรกรยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง ขาดการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการตลาด ขาดการพัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ขาดการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ด้าน นายอภิชาติ กล่าวว่า หลังประกาศปักธง 5 จังหวัด ในระยะที่ 1 พร้อมกัน 4 ภาค คือ ภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ และได้จัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ขึ้นมาซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนตามพื้นที่แห่งแรกสำเร็จไปเป็นที่เรียบร้อย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และได้จัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ มีคณะกรรมการบริหารและคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) 12 คณะ โดยทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ รมว.มหาดไทย เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) และนายฐาปน เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยก่อนหน้า คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐเดินหน้าตามนโยบายปักธง 5 จังหวัดในระยะที่ 1 ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อศึกษาข้อมูล และความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อนำไปสู่การวางแผนสนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้สู่ความเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป
นายฐาปน กล่าวว่า พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังผนึกกำลังภาครัฐบาลกำหนดเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน ดำเนินการในการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยมุ่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางใน 3 เรื่อง ได้แก่ การเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน
หลังจากนั้น คณะทั้งหมดได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน บ้านถ้ำรงค์ ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมแพปลา ธนาคารปูม้า บ้านดอนใน ต.ผักเบี้ย อ.บ้านแหลม ปิดท้ายด้วยเข้าเยี่ยมศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านดอนผิงแดด ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี