ซีพีเอฟ สนับสนุนการสร้าง “ศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ” จุฬาฯ คลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ของไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ” พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับมอบเงินสนับสนุนจำนวน 25 ล้านบาท จาก นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในการจัดหาเครื่องหาลำดับเบสประสิทธิภาพสูงและปรับปรุงพื้นที่ใช้สอย ถือเป็นคลังความรู้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานวิจัยรวมถึงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆของไทย
ศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ทัศนาขจร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯแห่งนี้ จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางด้านการวิจัยในศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์โอมิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวภาพ ในการช่วยให้เราสามารถศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวม จากแต่ก่อนเราจะศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบเป็นจุดๆ แยกเป็นบางโมเลกุล แยกส่วน แต่วิทยาศาสตร์โอมิกส์ จะทำให้เราศึกษาสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมด ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนและถูกต้อง การจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
นับเป็นความโชคดีของเราที่ได้รับการสนับสนุนจากทางจุฬาฯ และซีพีเอฟ ในการจัดตั้งและมอบเครื่องมือที่ทันสมัย งานวิจัยของศูนย์ฯจะเป็นการศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์ พืช สัตว์ แบคทีเรีย เพื่อเอาองค์ความรู้มาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง ข้าว ปัจจุบันภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เราได้เอาวิทยาศาสตร์โอมิกส์มาศึกษาว่าเมื่อเกิดภาวะแล้งหรือร้อน พืชมีการเปลี่ยนเปลงอย่างไร ดูองค์ประกอบและโมเลกุลที่เปลี่ยนแปลง มาใช้ในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ในสัตว์ก็เช่น กุ้ง หลังจากพบว่ากุ้งเป็นโรคค่อนข้างเยอะ เวลากุ้งมีการติดเชื้อเราก็สนใจว่า เชื้อแต่ละชนิดมีลักษณะทางพันธุกรรมอย่างไร เราจะแก้ปัญหากุ้งติดโรคได้อย่างไร รวมถึงการศึกษาภูมิคุ้มกันทั้งหมดของกุ้งโดยใช้วิทยาศาสตร์โอมิกส์ตอบปัญหา”
ด้าน นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวถึงการสนับสนุนในครั้งนี้ว่า “ถือเป็นความยินดีอย่างยิ่งที่ซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ คลังข้อมูลขนาดใหญ่ ที่มีความทันสมัย สนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ไทยที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยการมอบ เครื่องหาลำดับเบสประสิทธิภาพสูง ในการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ชีววิทยา สัตววิทยา วิทยาศาสตร์การเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการวิจัยทางการแพทย์ บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนารวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ แก่สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการตลอดจนผลงานวิจัยที่มีคุณูปการต่อประเทศไทย”
การจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์โอมิกส์และชีวสารสนเทศ” แห่งนี้จะช่วยพัฒนาผลงานวิจัยแบบก้าวกระโดด ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อศึกษาโมเลกุลจำนวนมากได้ จัดเป็นคลังความรู้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานวิจัยตลอดจนนวัตกรรมต่างๆด้านวิทยาศาสตร์โอมิกส์ไทยก้าวสู่ระดับสากล