xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ คาดอายุกว่า 3 พันปี อาจพลิกประวัติศาสตร์เมืองน่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมเครื่องประดับเก่าแก่ กลางสวนหมู่บ้านสันติภาพ จ.น่าน เชื่อหลักฐานที่พบเป็นแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เมืองน่าน

วันนี้ (4 เม.ย.) เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ 7 จังหวัดน่าน เข้าขุดค้นทางโบราณคดีที่สวนมะม่วงกลางหมู่บ้านสันติภาพ ต.ไชยสถาน อ.เมือง จ.น่าน หลังนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน แจ้งพบเศษกระเบื้อง เครื่องใช้โบราณ หลังปรับพื้นที่เตรียมสร้างสนามกีฬาแบดมินตัน

นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ เปิดเผยว่า พื้นที่นี้ได้ซื้อเก็บไว้มานานมากกว่า 20 ปี และบางส่วนได้แบ่งทำที่อยู่อาศัย และบ้านจัดสรร และขณะกำลังปรับพื้นที่สวน 3 ไร่นี้เพื่อจะทำสนามกีฬาแบดมินตันเตรียมไว้แข่งขันกีฬาเยาวชน ได้มีความรู้สึกเหมือนมีคนมากระซิบบอกให้หยุด ให้ย้ายที่ก่อสร้าง และเริ่มสังเกตเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีเศษกระเบื้องชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นจำนวนมากใต้ดิน จึงได้แจ้งไปยังกรมศิลปากรที่ 7 น่าน ให้เข้าตรวจสอบเนื่องจากเชื่อว่าอาจพบวัตถุสิ่งของโบราณได้

จากการขุดโดยทีมช่างกรมศิลปากรที่ 7 น่าน ปรากฏพบเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียดนาม และแหล่งเตาล้านนาเก่าแก่ ประมาณราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21

นอกจากนี้ยังพบเตาตะกรับโบราณ อายุไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี จำนวน 3 เตา และลึกไปอีกชั้นดินพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณจำนวน 2 โครง โดยใกล้กันพบมีเครื่องอุทิศเป็นภาชนะดิน เครื่องถ้วย ขวานสำริด พร้อมเครื่องประดับที่เป็นลูกปัดหิน ลูกปัดที่ทำจากเปลือกหอย ถูกฝังไว้พร้อมกันอีกด้วย คาดมีอายุก่อนประวัติศาสตร์กว่า 3 พันปี

น.ส.ชญาดา สุวรัชชุพันธุ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เปิดเผยว่า จากหลักฐานต่างๆ ที่ขุดพบได้บ่งบอกว่าในพื้นที่เดียวกันนี้มีการอาศัยอยู่ใน 2 ยุคสมัย คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และยุคพุทธศตวรรษที่ 20-21 อีกทั้งการขุดเจอโครงกระดูกมนุษย์พร้อมกับสิ่งของเครื่องใช้โบราณครั้งนี้ มีความสำคัญและเป็นที่น่ายินดีอย่างมาก เป็นครั้งแรกที่มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งจะเป็นหลักฐานครั้งสำคัญนำไปสู่การพิสูจน์ว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้มีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นถึงความเชื่อและวิถีชีวิตในชุมชน รวมถึงเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของเมืองน่านอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น