อุบลราชธานี-จนท.หลายหน่วยงานลงดูความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวที่แห่เข้ามาดูความงามแกรนด์แคนยอนอีสาน จ.อุบลราชธานี แนะให้เตรียมห่วงยางไว้ช่วยเหลือหากตกลงไปในน้ำ ขณะสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ดูความแข็งแรงของดิน และชั้นหิน เผยผลตรวจน้ำเบื้องต้นค่าความเป็นกรดสูง
หลังมีกระแสฮือฮาพบบ่อดินถูกขุดไปถมที่ศูนย์ราชการ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และมีน้ำผุดขังตามบ่อจนมองดูคล้ายหุบเขาแกรนด์แคนยอน ในมลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีประชาชน และนักท่องเที่ยวแห่กันเข้าไปเที่ยวชมจำนวนมาก กระทั่งหลายหน่วยงานต้องประกาศเตือนอันตราย เพราะคันดินขอบบ่อทางเดินแคบ และน้ำมีความลึก ทำให้เกรงเกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยว
โดย น.ส.ศิริวรรณ ชุมชนุม หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสาร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวไม่ให้ได้รับอันตรายจากการท่องเที่ยวทางน้ำในช่วงหน้าแล้ง ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน และชาวบ้านหนองไหล เพื่อให้เตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีนักท่องเที่ยวเกิดพลาดตกลงไปในบ่อดินที่น้ำมีความลึก 3-4 เมตร
โดยให้ อบต.จัดเตรียมหวงยางทิ้งลงไว้ในบ่อดินที่มีน้ำขัง โดยใช้เสาปักเป็นตัวยึด และให้เตรียมถังน้ำพลาสติกทำเป็นทุ่นลอยทิ้งไว้ตามขอบบ่อ เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดเดินพลาดพลั้งตกลงไปในบ่อที่มีทางเดินแคบเพียง 1 ฟุต และขอบบ่อมีทางลาดชันสูง จะได้เกาะทุ่น หรือห่วงยางระหว่างรอคนไปช่วยเหลือ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการมาท่องเที่ยวในที่แห่งนี้
ซึ่งหลังให้ความรู้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี จะได้จัดหาอุปกรณ์ใช้ช่วยชีวิตนักท่องเที่ยวมามอบให้แก่ทาง อบต.ไว้ใช้เพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน นายทวีวัฒน์ นาคไชยะ นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเข้ามาเก็บตัวอย่างดินรอบบริเวณแกรนด์แคนยอน กล่าวว่า นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้ให้มาสำรวจพบเป็นบ่อดินที่ถูกขุดมาแล้วประมาณ 20 ปี มีความลึกของบ่อจากคันดิน 1.5-3 เมตร กว้าง 100 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร
โดยมีลักษณะทางธรณีวิทยาเบื้องต้น คือ ชั้นบนเป็นดินเหนียวเนื้อละเอียดสีเทาขาว มีจุดประสีน้ำตาลอมส้ม เนื้อแน่น มีเม็ดทรายขนาดละเอียดปนเล็กน้อย ชั้นล่าง หินพื้นฐานอยู่ในหมวดหินภูทอก ที่ประกอบด้วย หินทรายสีแดงอิฐ ขนาดเม็ดละเอียดถึงปานกลาง สลับกับหินทรายเนื้อละเอียด สีม่วงแดง เนื้อปนปูน
ส่วนน้ำที่มีสีเขียวในเบื้องต้น คาดว่าน่าจะเกิดจากแร่คาร์บอเนตจากเม็ดปูนที่ปนในเนื้อหินทรายผสมกับน้ำ ทำให้น้ำเป็นลักษณะน้ำกระด้าง เมื่อมีการสะท้อนแสงทำให้มองเป็นสีเขียวอมฟ้า เมื่อตักน้ำใส่ขวดเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งจะได้นำไปตรวจวิเคราะห์ความชัดเจนอีกครั้ง
ต่อมา นายมนต์ชัย จันทร์ศิริ นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 12 อุบลราชธานี นำคณะเข้าตรวจวัดค่าออกซิเจน และความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ โดยเก็บตัวอย่างน้ำรวม 4 จุด เนื่องจากเป็นบ่อดินที่ถูกขุดมานาน และมีชั้นดินด้านบนเป็นดินเหนียว
ส่วนชั้นหินเป็นหินทรายสีแดงอิฐ พร้อมมีแร่คาร์บอเนตจากเม็ดปูนที่ปนในเนื้อหินทรายผสมกับน้ำ ทำให้น้ำเป็นลักษณะน้ำกระด้าง เมื่อมีการสะท้อนแสงทำให้มองเป็นสีเขียวอมฟ้า เมื่อตักน้ำใส่ขวดเป็นสีขาวขุ่น
เมื่อนำน้ำมาตรวจวัดค่าออกซิเจนเบื้องต้น พบว่า มีค่าออกซิเจนสูง 7.1 ถึง 7.4 มิลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือเป็นค่าปกติ แต่สำหรับค่าของความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ 4.8 ถึง 5.4 มิลิกรัมต่อลิตร ถือว่าน้ำในจุดดังกล่าวค่อนข้างเป็นกรด และมีผลต่อคนที่ผิวหนังแพ้ง่ายถ้าลงไปเล่นน้ำ หรือสัมผัสน้ำจะมีอาการคัน
แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะได้ส่งตัวอย่างน้ำไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารโลหะหนัก และคุณภาพของน้ำที่ต้องใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ประมาณ 1 สัปดาห์
ด้านบรรยากาศท่องเที่ยวในวันหยุด ปรากฏว่า ยังคงมีประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้ามาเที่ยวชมตามปกติ และวันนี้มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ อบต.มาช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวันหยุดที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากกว่าปกติ และในวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. นายเธียรชัย พุทธรังสี นายอำเภอเมืองได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายวางมาตรการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวได้รับอันตรายจากการมาเที่ยวแกรนด์แคนยอนนี้ด้วย
ด้าน น.ส.เปรมอุมา ประสานสี อายุ 33 ปี พนักงานของรัฐแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ทราบข่าวจากเพื่อน และลองพาครอบครัวมาเที่ยว ซึ่งบรรยากาศยังมีความเป็นธรรมชาติ แต่บริเวณคันดินที่เป็นทางเดินแคบไป หากตกลงไปอาจได้รับอันตราย จึงไม่ควรให้มีการลงเล่นน้ำเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และควรมีอุปกรณ์ใช้ช่วยชีวิตวางไว้ตามจุดต่างๆ ด้วย