xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอีสานใต้ป่วยอุจจาระร่วงเกือบ 3 หมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี เผย 3 เดือนแรกของปี 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดเกือบ 30,000 ราย แนะทางป้องกัน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” สร้างสุขอนามัยปลอดจากโรค
ส้มตำและอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ เสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงช่วงหน้าร้อน
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร ทำให้อาหารบูดง่าย ผู้บริโภคมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงได้ง่ายเพราะเกิดการติดเชื้อในลำไส้ โดยเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงคือ เชื้อแบคทีเรีย ไวรัสโปรโตซัว ปรสิต และหนอนพยาธิ ซึ่งติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน จะเกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้น หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด บางครั้งอาจอาเจียนร่วมด้วย

เมื่อมีอาการดังกล่าวทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องใช้สารน้ำละลายเกลือแร่โออาร์เอส หรือชงน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ผสมน้ำใน 1 ขวดกลม ดื่มให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

จากสถิติสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 มีนาคม 2559 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 276,230 ราย ส่วนในพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.10 ทั้ง 5 จังหวัด พบผู้ป่วยแล้ว 27,351 ราย พบมากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี 12,227 ราย รองลงมา จ.ศรีสะเกษ 7,227 ราย ยโสธร 3,524 ราย อำนาจเจริญ 2,645 ราย มุกดาหาร 1,728 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับอาหารที่ทำให้ป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่ายคือ ส้มตำ อาหารทะเล อาหารประเภทหมักดอง ยำ และลาบ เพราะมีการปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคและตัวอ่อนของพยาธิ วิธีป้องกันให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้ง ก็ช่วยให้หลีกเลี่ยงการป่วยเป็นโรคนี้ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น