xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.นำร่องปล่อยสินเชื่อ XYZ วงเงิน 1 ล้านให้เกษตรกรชัยนาทเป็นทุนปลูกพริกซูเปอร์ฮอตสู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นำร่องปล่อยสินเชื่อ XYZ วงเงิน 1 ล้านบาท ให้เกษตรกรชัยนาทเป็นกลุ่มแรก เป็นทุนปลูกพริกซูเปอร์ฮอตสู้ภัยแล้ง

วันนี้ (25 มี.ค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นำร่องปล่อยสินเชื่อโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง หรือโครงการ XYZ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นกลุ่มแรกของประเทศ โดย นายวิรัช วาณิชธนากุล ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.ฝ่ายกิจการสาขาภาคกลาง นายปรีชา พวงน้อยปภา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดชัยนาท นายณัฐดนัย คลล้ำ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สรรพยา ร่วมกันมอบเงิน จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่ นายไตรศักดิ์ ปัทมรัฐจิรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลเจ้าพระยา และนายยืน เต๊ะวงษ์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเจ้าพระยา ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยพ่อหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพื่อเป็นทุนให้แก่เกษตรกร จำนวน 20 ราย ที่รวมกลุ่มปลูกพริกขี้หนูพันธุ์ซูเปอร์ฮอต ส่งขายให้แก่บริษัทโกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง และแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาล และมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2558/2559

ทั้งนี้ หลังจากที่กรมชลประทานได้หยุดการส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในเขตชลประทานต้องหยุดปลูกข้าวนาปรัง กลุ่มเกษตรกรเจ้าพระยา จำนวน 20 ราย จึงได้รวมกลุ่มกันทดลองปลูกพริกขี้หนูพันธุ์ซูเปอร์ฮอต ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย และอายุสั้น เก็บเกี่ยวขายได้ภายใน 60 วัน หลังจากเดินทางไปดูการปลูกพริกของเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า ให้ผลผลิต และสร้างรายได้ดี จึงกลับมาปรับเปลี่ยนผืนนาร้างในพื้นที่รวม จำนวน 19 ไร่ ให้เป็นแปลงปลูกพริกซูเปอร์ฮอต ขุดเจาะบ่อบาดาลให้น้ำแบบระบบน้ำหยดวันละ 1 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง

“ขณะนี้ใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งขายตามพันธสัญญาให้แก่ บริษัทโกลโบ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องพริกแกง ในราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ 30,000 บาท/ไร่ นับเป็นพืชใช้น้ำน้อยอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้งนี้”

ทั้งนี้ โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง หรือโครงการ XYZ เป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการ โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตโดยให้ทำการผลิตพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดที่แน่นอน ทำเกษตรแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Framing) โดยให้ ธ.ก.ส.เข้าไปสนับสนุนในด้านเงินทุน และด้านการตลาดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยคิดดอกเบี้ยจากชุมชนในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ XYZ จะมีรายได้ 3 ส่วน ได้แก่ X คือ รายได้จากค่าเช่าที่ดินเพื่อการผลิต Y คือ ค่าจ้างแรงงานการผลิต และ Z คือ เงินปันส่วนให้แก่สมาชิกหลังจากหักค่าใช้จ่ายของชุมชน




กำลังโหลดความคิดเห็น