เชียงราย - การค้าชายแดนไทยผ่านน้ำโขงตอนบนส่อปั่นป่วน หลังทางการพม่าสั่งปิด “ท่าเรือสบหรวย” ช่องทางหลักที่เคยขนสินค้าขึ้นฝั่ง ก่อนส่งต่อเข้าจีนอีกทอด ลดภาระภาษีนำเข้าจีน
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจชายแดน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางเจ้าท่ากวนเหล่ยได้ส่งหนังสือเวียนไปถึงคนเดินเรือสินค้าสัญชาติจีนในแม่น้ำโขงว่า ท่าเรือกวนเหล่ยได้รับแจ้งจากทางการพม่าว่า ตามข้อตกลงระหว่าง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน (ไทย-พม่า-ลาว-จีน) กำหนดให้ใช้เรือโดยสาร เรือสินค้า และเรือทุกชนิดเทียบท่าเรือของประเทศสมาชิกที่ระบุเอาไว้ในข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขง 4 ชาติ มีการลงนามกันตั้งแต่ปี 2544 ทั้ง 14 ท่าเท่านั้น
คือ ท่าเรือซือเหมา-จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง-เมืองหัง-กวนเหล่ย สป.จีน, ท่าเรือบ้านจิง-บ้านโป่ง ของพม่า, ท่าเรือปางทราย-ปางเซียงก่อ-เมืองมอม-บ้านป่าลุน-ห้วยทราย และหลวงพระบาง สปป.ลาว และประเทศไทยใช้ท่าเรือ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ
โดยให้ระงับนำเรือเข้าเทียบท่าเรือสบหรวย ริมน้ำโขงฝั่งพม่า ที่อยู่ห่างจาก อ.เชียงแสนขึ้นไปทางเหนือประมาณ 195 กิโลเมตร เป็นเมืองท่าแม่น้ำโขงที่สำคัญของเขตปกครองพิเศษที่ 4 ประเทศพม่า ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มไทใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา หรือมากกว่า 1 เดือนแล้ว
แหล่งข่าววงการค้าชายแดนย่านสามเหลี่ยมทองคำให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการค้าในย่านลุ่มน้ำโขงตอนบนแน่นอน เพราะที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำโขงเข้าสู่ สป.จีน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเลือกที่จะขนถ่ายผ่านท่าเรือสบหรวย ของพม่า (ห่างจาก อ.เชียงแสน ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 195 กิโลเมตร) ที่อยู่นอกเหนือข้อตกลง เพื่อลำเลียงสินค้าขึ้นฝั่งพม่า ก่อนขนส่งเข้า สป.จีน ทางบก ผ่านทางด่านฯ 240 อันเป็นช่องทางที่นิยมใช้เปลี่ยนแหล่งที่มาของสินค้าให้เป็นสินค้าพม่าที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าเข้าจาก สป.จีน มากกว่าไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน
อนึ่ง ปี 2558 ที่ผ่านมาด่านศุลกากรเชียงแสนแจ้งว่ามีมูลค่าการส่งออกกว่า 15,814.42 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 669.71 ล้านบาท รวมทั้งมีการค้าผ่านแดนเป็นมูลค่ากว่า 18,053.82 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย แจ้งว่า ปี 2558 มีเรือสินค้าในแม่น้ำโขงเข้าเทียบท่าเรือเชียงแสนรวมกันกว่า 13,482 เที่ยว และตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 มีเรือในแม่น้ำโขงกว่า 1,273 ลำ โดยเป็นเรือสัญชาติจีน 44 ลำ สัญชาติ สปป.ลาว 1,120 ลำ สัญชาติพม่า 70 ลำ และสัญชาติไทย 39 ลำ