xs
xsm
sm
md
lg

ชัดเลย! สตง.เจาะพิสูจน์ถนน อบต.พิษณุโลก ทั้งผิดสเปก-เททับเฉย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ผู้ว่าการ สตง.ตามสอบถึงที่ ถนน อบต.เมืองสองแควผิดสเปก สุ่มเจาะตรวจเจอหนาไม่ถึง 15 ซม.ตามแบบจริง เผยแจ้งให้แก้ไขแล้ว กลับเทคอนกรีตทับให้หนาขึ้นแทนแถมเบิกจ่ายงบแล้ว ข้องใจอาศัยอำนาจข้อไหนแก้ระเบียบเอื้อผู้รับเหมา เล็งเรียกเงินคืน พร้อมย้ำต้องมีคนรับผิดชอบ

วันนี้ (21 มี.ค.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริตการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก งใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก แฃปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในหมู่บ้าน หมู่ 1, 2, 4, 5, 6, 8, 11, 12, 13, 14, 15 ระยะทางเฉลี่ยหมู่บ้านละ 100 เมตรเศษ 11 เส้นทาง ตามสัญญาจ้างเลขที่ E1/2557 ลงวันที่ 5 ก.ย. 57 จำนวนเงินตามสัญญา 3,316,000 บาท โดยสุ่มตรวจ 2 ใน 11 สาย

หลังมีผู้ร้องเรียนว่า การก่อสร้างถนน คสล.มีความหนาเพียง 10-13 เซนติเมตร ไม่เป็นไปตามรูปแบบการประกอบสัญญาจ้างที่กำหนดความหนา 15 เซนติเมตร และสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 10 ได้มีหนังสือแจ้งเพื่อทบทวนแก้ไข แต่ อบต.พรหมพิราม กลับเทคอนกรีตธรรมดาทับบนผิวถนนเดิม เพื่อให้ถนน คสล.มีความหนาเป็นไปตามรูปแบบ และได้มีการเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับจ้างครบตามสัญญา วิธีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักวิชาช่างที่ดี ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง เกิดความเสียหายต่อทางราชการ

ปัจจุบันผิวหน้าที่เททับได้หลุดร่อน พฤติการณ์ถือว่าเป็นการทุจริต ซึ่งนายประดับ กลิ่นขำ นายก อบต.พรหมพิราม และผอ.กองช่าง นำตรวจถนน 2 แห่ง โดยนำเครื่องขุดเจาะถนน (คอลลิ่ง) สุ่มเจาะผิวถนนคอนกรีตที่มีความยาว 100 เมตรเศษ ที่ อบต.พรหมพิราม ได้ว่าจ้าง หจก.แห่งหนึ่งก่อสร้าง จนมีผู้ร้องฯ และ สตง.ได้ทำหนังสือตักเตือน แต่นายก อบต.พรหมพิรามบอกว่ายังไม่ได้รับหนังสือ

ผลการสุ่มเจาะพิสูจน์พบว่าชั้นหินทรายแบ่งเป็น 2 ชั้น มีความหนาไม่ถึงตามสัญญาว่าจ้าง ถนนด้านล่างไม่ได้บดอัด

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง.ได้รับข้อมูลว่า ถนนไม่เป็นไปตามรูปแบบ คือ หนา 15 เซนติเมตร เบื้องต้นจึงได้แจ้งเตือนให้ทบทวน เพราะระเบียบราชการถ้าก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบรายการจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง จากนั้นจึงค่อยมีการตรวจรับงานได้ ส่วนกรณีแก้ไขแบบเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา ยืนยันว่าไม่มีระเบียบให้กระทำได้ ความหนาที่ไม่ถึงตามรายการ กลับไปเททับเพิ่ม หรือแก้ข้อสัญญาก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ

“การแก้สัญญาถือว่าเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา เนื่องจากการทำถนนไม่เหมือนทำขนมชั้น”

กรณีเทปูนทับเพิ่มใหม่ก็ไม่มีเหล็ก มีเพียงแต่เหล็กเส้นเดิมด้านล่าง ฉะนั้นผิวถนนมีความเปราะบาง ระยะยาวไม่ทน ที่ผ่านมาก็เตือนไปแล้วแต่กลับหาวิธีเลี่ยง เช่น ถนน คสล.จะต้องทดสอบด้วยแรงอัด แต่ก็พลิ้วไปทดสอบอีกอย่างคือ แรงเฉือน อ้างว่ารับรองได้ แม้ว่ายอดมูลค่าก่อสร้างถนนเงินเพียง 3 ล้านบาท แต่บังเอิญเป็นเงินภาษีของประชาชน ฉะนั้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ เบื้องต้น สตง.จะทำหนังสือทักท้วง เรียกเงินที่จ่ายเงินไปแก่ผู้รับเหมาคืน ส่วนระยะยาวจะต้องสอบสวนว่าทำไมรู้แล้วจึงปล่อยให้มีการแก้ไข อาศัยอำนาจอะไรไปแก้แบบ แก้สัญญาเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา





กำลังโหลดความคิดเห็น