บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์ปรับเปลี่ยน จากพื้นที่นาหันปลูกอ้อยหลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำและปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าทำนา กลับเผชิญภัยแล้งหนักซ้ำเติมทำต้นอ้อยแคระแกร็นแห้งตาย อีกทั้งแมลงระบาดผลผลิตเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่
วันนี้ (20 มี.ค.) เกษตรกรหลายพื้นที่อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นาข้าวหันมาปลูกอ้อยเพื่อหวังหนีปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6-7 บาทเท่านั้น โดยปีนี้มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ไร่ จากปีที่ผ่านมามีพื้นที่ปลูกประมาณ 170,000 ไร่
แต่จากสถานการณ์แล้งปีนี้ที่รุนแรงกว่าทุกปีทำให้เกษตรกรที่หันมาปลูกอ้อยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งซ้ำเติม เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นอ้อย ทำให้มีสภาพแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ บางพื้นที่มีสภาพเหี่ยวเฉาแห้งตาย ทั้งมีแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตเสียหายกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่
จากกรณีดังกล่าว เกษตรกรได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือโดยการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
นายดร สีโสภา นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้ได้มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 30,000 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกขณะนี้ทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่ เนื่องจากการปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา แต่จากสภาพความแห้งแล้งที่รุนแรงในปีนี้ทำให้ต้นอ้อยแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต ทั้งมีสภาพเหี่ยวแห้งตายเสียหายกว่าร้อยละ 20 หรือกว่า 2 หมื่นไร่ของพื้นที่เพาะปลูก
จึงอยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือโดยการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี