นครพนม/หนองบัวลำภู - ท่ามกลางอากาศร้อนระอุและแล้ง ชาวบ้านอีอูด หมู่ 3 ต.นาเดื่อ อ.ศรีสงคราม ลงแขกจับปลาหารายได้เข้าในชุมชน ขณะที่เกษตรกรชาวตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง จ.หนองบัวลำภู หลายครัวเรือนไม่ท้อแม้แล้งจัดน้ำในคลองลำพะเนียงลดฮวบ หันมาปลูกข้าวโพดต้มขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว
วันนี้ (17 มี.ค.) ชาวบ้านอีอูด หมู่ 3 ต.นาเดื่อ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ทั้งลูกเด็กเล็กแดงต่างมารวมตัวกันที่หนองน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้าน สภาพน้ำกำลังแห้งขอด ทำการลงแขกจับปลาเพื่อการกุศล โดยการจำหน่ายบัตรราคา 150 บาทต่อแห 1 ปาก สะดุ้ง 1 อัน ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะเข้าเป็นกองทุนประจำหมู่บ้าน และสร้างความสามัคคีในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านใกล้เคียงเดินทางด้วยรถยนต์กระบะ สามล้อ ซาเล้ง และรถเช่าเหมามาร่วมงานหลายร้อยคน
โดยในปีนี้คณะกรรมการหมู่บ้านได้เปิดให้ประชาชนที่ต้องการมาลงแขกจับปลาเริ่มลงมือจับปลาตั้งแต่เช้าไปจนถึงเย็นท่ามกลางอากาศร้อน และการจับปลาเป็นไปอย่างสนุกสนาน ซึ่งเซียนจับปลาจะพายเรือหว่านแห ทอดแหกลางหนองน้ำ สะดุ้งจะล้อมรอบหนองน้ำ โดยสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันแสงแดด เป็นการคลายร้อนไปในตัวอีกด้วย
ส่วนจะได้ปลามากน้อยแล้วแต่ดวงของใครแต่ละคน บางคนหาไม่ถึงครึ่งวันก็ได้หลายตัว ตัวละ 2-5 กิโลกรัม ก็จะมีแม่ค้ามาขอซื้อข้างหนองน้ำเลยทีเดียว เป็นที่สนุกสนาน สร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
สำหรับหนองน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้านแห่งนี้ได้ขุดมาเป็นเวลา 20 ปี ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 80 เมตร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและเป็นแหล่งอาหารในชุมชนโดยการปล่อยปลาทุกปี แต่ด้วยอากาศที่ร้อนจัดทำให้น้ำแห้งอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมลงแขกจับปลาขึ้น ซึ่งปลาที่ได้มีมากมายนานาชนิด ประกอบด้วย ปลานิล ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ โดยนำปลาที่ได้เหล่านี้ไปทำเป็นอาหารในช่วงแล้ง
อีกส่วนหนึ่งชาวบ้านจะทำกินกันริมข้างหนอง รสชาติอร่อยเพราะได้มาสดๆ ที่เหลือเป็นปลารมควันตากแห้ง ปลาแดดเดียว เก็บไว้รอรับญาติๆ ที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในเดือนหน้า
ปลูกข้าวโพดต้มขายหนีแล้ง
อีกด้านหนึ่งที่ จ.หนองบัวลำภู ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่บ้านฝั่งแดง อ.นากลาง พบมีเกษตรกรหลายครัวเรือนที่หันมาปลูกข้าวโพดต้มขายกันมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ค่อยดี อีกทั้งหากปลูกพืชอย่างอื่นก็ประสบปัญหาภัยแล้ง
นางเกษร ภักดี อายุ 51 ปี ม.4 ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดต้มขายในหมู่บ้านฝั่งแดง เล่าว่า ตนทำอาชีพขายข้าวโพดต้มมานานหลายสิบปี ทำเป็นอาชีพหลัก เริ่มต้นจากตนและสามีมีที่ 10 ไร่ จึงแบ่ง 8 ไร่เพื่อปลูกอ้อย และ 2 ไร่เพื่อปลูกข้าวโพด โดยปัจจุบันการลงทุนปลูกทั้งสองอย่างใช้ต้นทุนเท่าๆ กันต่อปี เพียงแต่ปริมาณการใช้น้ำในการเกษตรแตกต่างกัน ซึ่งอ้อยปลูกปีละ 1 ครั้ง ต้องขยันสูบน้ำทุกวัน
แต่ข้าวโพดปลูกปีละ 3 ครั้ง ใช้น้ำในการดูแลเพียงแค่อาทิตย์ละครั้ง ก็สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตน้ำได้มากขึ้น ในปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านหลายครัวเรือนก็หันมาปลูกข้าวโพดต้มขายกันมากขึ้น เพราะเนื่องจากปีนี้น้ำลำพะเนียงที่เคยมีปริมาณเพียงพอจนสามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตร ได้ลดปริมาณลงอย่างมากจนแทบไม่เพียงพอใช้ ถือเป็นภัยแล้งที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเดือดร้อนกันอยู่มาก
จึงหันมาปลูกข้าวโพดกันมากขึ้น ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวในหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี ผู้คนสัญจรผ่านก็จอดรถแวะซื้อกัน อีกทั้งยังนำขายส่งตามแหล่งซื้อต่างๆ อีกด้วย