xs
xsm
sm
md
lg

“JMC ลำแชะ” มีมติส่งน้ำแก้วิกฤต “ประปาโคราช” แห้ง 3 ล้านคิว-ผู้ว่าฯ งัด 7 มาตรการคุมเข้มทุกเขื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

JMC ลุ่มน้ำลำแชะ มีมติส่งน้ำช่วยเหลือ  กปภ. สาขา นครราชสีมา แก้วิฤตขาดน้ำดิบผลิตประปา  3 ล้าน ลบ.ม.ในระยะเวลา 3 เดือน  วันนี้ ( 16 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - JMC ลุ่มน้ำลำแชะมีมติส่งน้ำช่วย กปภ.นครราชสีมา แก้วิกฤตขาดน้ำดิบผลิตประปา 3 ล้าน ลบ.ม. ในเวลา 3 เดือน โดยส่งผ่านระบบท่อของเทศบาลนครฯ ก่อนปล่อยลงลำน้ำมูลส่งต่อไปยังจุดสูบน้ำที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ประเดิมส่งคืนนี้ 2 แสน ลบ.ม. ด้านผู้ว่าฯ โคราชประกาศแผนจัดการน้ำระยะที่ 8 งัด 7 มาตรการ บริหารน้ำทุกเขื่อนเพื่อให้โคราชฝ่าวิกฤตแล้งไปให้ได้

วันนี้ (16 มี.ค.) นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขานครราชสีมา ที่มีน้ำผลิตประปาให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ กว่า 27,000 ครอบครัว ได้อีกแค่ 1 เดือน ว่า ล่าสุดตนได้เรียกประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ลุ่มน้ำลำแชะ ที่ประชุมมีมติให้อ่างเก็บน้ำลำแชะส่งน้ำช่วยเหลือ กปภ.สาขา นครราชสีมา เดือนละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 3 ล้าน ลบ.ม.

โดยให้ส่งผ่านระบบท่อของเทศบาลนครนครราชสีมาไปยังอ่างเก็บน้ำบ้านใหม่หนองบอน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จากนั้นค่อยส่งตามลำน้ำมูล ระยะทาง 20 กม. ถึงจุดสูบน้ำของ กปภ.สาขานครราชสีมา ที่บ้านโนนไม้แดง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เพื่อสูบเข้าอ่างน้ำดิบท่าช้างของ กปภ.สาขานครราชสีมา

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้รับแจ้งจากทางเทศบาลนครฯ ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายกับผู้รับเหมา จึงขอเวลาในการดำเนินการเรื่องเอกสารให้ชัดเจนก่อน แต่เนื่องจากทาง กปภ.สาขานครราชสีมา มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้น้ำดิบผลิตประปา จึงขอให้ทางเทศบาลนครฯ ปล่อยน้ำสำรองที่เก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบ้านใหม่หนองบอน ต.ด่านเกวียน จำนวน 200,000 ลบ.ม. ส่งลงไปให้ กปภ.สาขานครราชสีมา สูบเข้าอ่างน้ำดิบท่าช้าง ขึ้นไปใช้ผลิตประปาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนก่อน

โดยจะเริ่มปล่อยน้ำในเวลา 19.00 น. วันนี้ (16 มี.ค.) จากนั้นทางเทศบาลนครฯ จะสูบน้ำจากเขื่อนลำแชะมาเติมอ่างเก็บน้ำบ้านใหม่หนองบอนทดแทน ซึ่งให้สามารถสูบน้ำเพิ่มเป็นวันละ 65,000 ลบ.ม. จากเดิมสูบได้วันละ 35,000 ลบ.ม. ดำเนินการไปจนกว่าจะครบตามปริมาณที่ปล่อยให้ กปภ.สาขานครราชสีมา

“ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำว่าประชาชนต้องไม่ขาดน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ทางฝ่ายทหารได้ช่วยสูบทอยน้ำจากลำมูลกลับมาช่วยอ่างน้ำท่าช้าง ของ กปภ.สาขานครราชสีมา ได้อีก 100,000 ลบ.ม. คาดว่าจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตแล้งครั้งนี้ไปได้แน่นอน” นายชิตชนกกล่าว

ขณะที่ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามประกาศจังหวัดนครราชสีมา เรื่องแผนบริหารจัดการน้ำจังหวัดนครราชสีมาระยะที่ 8 (วันที่ 1-31 มี.ค. 2559) โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการตามแผนจัดการน้ำจังหวัดนครราชสีมาระยะที่ 1-7 สิ้นสุดเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดนคราชสีมาจึงมีมติกำหนดแผนฯ ระยะที่ 8 เป็นระยะเวลา 1 เดือน ดังนี้

1. การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง, อ่างเก็บน้ำละมูล, ลำแชะ, ลำปลายมาศ และเขื่อนระบายน้ำพิมาย ให้ดำเนินการควบคุมการระบายน้ำเพื่อการอุปโภค (ผลิตน้ำประปา) การเกษตร และรักษาระบบนิเวศน้ำให้คงเดิม

2. การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ให้ระบายน้ำออกจากเขื่อนลำตะคองไม่เกินวันละ 432,000 ลบ.ม. (5 ลบ.ม./วินาที) ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค. 2559 เพื่อรักษาระดับน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนให้คงระยะอยู่ได้จนกว่าจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนหรือจนกว่าจะถึงฤดูฝนปี 2559

3. ให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาสีคิ้ว งดการสูบน้ำในลำตะคองที่โรงสูบน้ำดิบคลองตะแบก โดยให้สูบน้ำดิบจากเขื่อนลำตะคองโดยตรงเท่านั้น

4. ให้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมางดการสูบน้ำดิบในลำตะคองบริเวณหน้าประตูระบายน้ำมะขามเฒ่าและหน้าประตูระบายน้ำอัษฎางค์ โดยให้สูบน้ำดิบจากเขื่อนลำตะคองและเขื่อนลำแชะโดยตรงเท่านั้น

5. ให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขานครราชสีมา เร่งรัดการก่อสร้างบ่อน้ำดิบและสูบน้ำจากแม่น้ำมูลเข้าไปเก็บสำรองไว้ให้เพียงพอใช้งานตลอดฤดูแล้ง

6. ให้หน่วยงานการประปาภูมิภาค การประปาท้องถิ่น และการประปาหมู่บ้านทุกแห่ง เร่งสูบน้ำกักเก็บไว้ในบ่อน้ำดิบให้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำดิบสำรองใช้งานได้ตลอดฤดูแล้ง

และ 7. ให้นายอำเภอทุกอำเภอสำรวจตรวจสอบการประปาในเขตรับผิดชอบ และติดตามกำกับดูแลให้การประปาต่างๆ ในพื้นที่ดำเนินการสูบน้ำ เก็บน้ำสำรองไว้ให้เพียงพอใช้งานตลอดฤดูแล้งด้วย
นายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา
อ่างเก็บน้ำดิบท่าช้าง บ้านโนนไม้แดง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ของ กปภ.นครราชสีมา
จุดสูบน้ำจากแม่น้ำมูล เข้าอ่างเก็บน้ำดิบท่าช้าง ของ กปภ.นครราชสีมา
จุดน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำดิบท่าช้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น