พระนครศรีอยุธยา - กรมชลประทาน และทหารระดมกำลังเร่งขุดลอกคลองฝั่งตะวันออกของเมืองอยุธยา ที่เป็นเส้นทางน้ำส่งน้ำเข้าพื้นที่ปทุมธานี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากำหนดสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง เผยผลดำเนินการคืบหน้าเกือบ 50% แล้ว
วันนี้ (15 มี.ค.) นายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง พร้อมหน่วยงานทหารบก ได้เดินทางเข้าติดตามความคืบหน้าการขุดลองคลองส่งน้ำสายหลักนครหลวงในจุดรอยต่อระหว่างอำเภอภาชี และอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเครื่องจักรหนัก พร้อมด้วยชาวบ้าน และทหารกำลังช่วยกันขุดลอกตักผักตบชวาขึ้น เพื่อสนองตอบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการกำจัดผักตบชวา และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นโครงการฯ รับผิดชอบพื้นที่อำเภอวังน้อย อำเภออุทัย อำเภอภาชี และอำเภอนครหลวง รวมถึงบางส่วนของอำเภอท่าเรือ และอำเภอบางปะอิน ที่มีคลองส่งน้ำของกรมชลประทาน รวมระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร โดยน้ำบางส่วนจะส่งผ่านคลองต่อไปยังฝั่งตะวันออกของจังหวัดปทุมธานี
“โดยล่าสุด รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้งบประมาณผ่านกรมชลประทานให้เร่งขุดลอกคลอง 10 สายหลัก ในการส่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ซึ่งมีปัญหาผักตบชวาอัดแน่นเต็มลำคลอง เช่น ในลำคลองชลประทานสายหลักนครหลวง มีปริมาณผักตบชวา 7,000 ตัน โดยรวมแล้วให้เริ่มดำเนินการมาแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ปัจจุบันการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายได้เกือบ 50% แล้ว” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง กล่าว
นายไมตรี กล่าวต่อว่า ใน 17 สายคลองของโครงการนครหลวง มีวัชพืชอยู่ประมาณ 60 กว่าตัน เฉพาะในตัวคลองนครหลวง และยังมีคลองซอย 15 สายคลองที่ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ โดยระยะทางทั้งหมดเริ่มในคลองนครหลวง กม.0-กม.35 คาดว่าอีกไม่เกิน 3 วันน่าจะแล้วเสร็จ นอกจากนั้น คลองซอยก็จะยังคงดำเนินการอยู่ เนื่องจากตัวน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในคลองน้ำมีน้อยมาก เราจึงต้องขอความร่วมมือต่อเกษตรกรในการที่ลดการทำนา
“น้ำที่เข้ามาวันนี้จากคลองระพีพัฒน์ เข้ามาคลองนครหลวง อยู่ประมาณ 1.9 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พอเปิดวัชพืชออกจะมีปริมาณน้ำที่ไหลนอนคลองได้สะดวกยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง กล่าว