กาฬสินธฺ์ - หมู่บ้านดงกล้วย ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ หมู่บ้านตามโครงการจัดที่ดินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ดินทำกิน ส.ป.ก.กาฬสินธุ์ เดือดร้อนอย่างหนัก ขาดแคลนน้ำไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ชี้เป็นผู้ยากไร้ต้องอาศัยน้ำจากภาครัฐ ด้านผู้ว่าฯ สั่งการส่วนราชการช่วยเหลือเต็มที่
วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.กาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านดงกล้วย ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ หมู่บ้านตามโครงการจัดที่ดินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ดินทำกินของ ส.ป.ก.กาฬสินธุ์ โดยหมู่บ้านดงกล้วยตั้งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติดงแม่เผด บนเนินสูงติดภูเขา มีราษฎรอาศัยอยู่ 36 ครัวเรือนต้องเดือดร้อนอย่างหนักจากภาวะภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตร ได้พบกับนายเกียรติศักดิ์ ภูสมนึก เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จ.กาฬสินธุ์ และนายสมาน การฟุ้ง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านอีกจำนวนมาก ที่กำลังรอรับรถบรรทุกน้ำสะอาด
นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เข้าช่วยเหลือนำน้ำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรให้เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากราษฎรในหมู่บ้านเป็นกลุ่มผู้ยากไร้ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น
โดยหมู่บ้านดงกล้วย ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งใหม่ภายหลังจากที่กองกำลังผสมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ดำเนินมาตรการแผนอาชาพิทักษ์ไพร ตรวจยึดพื้นที่ดินคืน หลังถูกกลุ่มนายทุนรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนกว่า 800 ไร่ และจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนไร้ที่ดินทำกินที่ได้ลงทะเบียนไว้ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้มีการพิจารณาคัดเลือกครอบครัวผู้ยากไร้ 36 ครัวเรือน แบ่งปันจัดสรรพื้นที่ทำกินให้รายละ 2.25 ไร่ เน้นให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการได้ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ โดยน้อมนำเอาวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางการดำรงชีวิตและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่
นายสมาน การฟุ้ง ผู้นำชุมชน วัย 58 ปี กล่าวว่า หมู่บ้านดงกล้วย เป็นหมู่บ้านก่อตั้งใหม่ตามโครงการจัดที่ดินเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ส.ป.ก.กาฬสินธุ์ สภาพหมู่บ้านมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูง อีกทั้งหน้าดินถูกทำลายความอุดมสมบูรณ์ไปหมด จากการปลูกพืชไม่เหมาะสมมานานหลายปี ซึ่งต่อจากนี้ผู้ที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในทุกๆ คนจะต้องเริ่มทำการเกษตรแบบอินทรีย์พร้อมๆ กับการปลูกต้นไม้ การบำรุงดิน และต้องทำหน้าที่ฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว แต่ทั้งนี้ความเดือดร้อนเป็นอยู่ในตอนนี้คือภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการบริโภคการอุปโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ต้นไม้ สัตว์เลี้ยงต้องการน้ำ ส่วนน้ำใต้ดินเท่าที่ทราบจากทางราชการต้องขุดเจาะลึกถึง 150 เมตร ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะอยู่ที่สูง ทางเดียวคือรอน้ำจากภาครัฐมาช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็มีน้ำจาก ส.ป.ก.ที่จะบรรทุกน้ำมาส่งชาวบ้านทุก ๆ วัน
ส่วนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคจะมีส่งในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยมีถังเก็บกักน้ำขนาด 2,000 ลิตร ต่อ 2 ครัวเรือนใช้กัน 2-3 วัน ในช่วงนี้ก็ต้องกำชับให้ทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด