นครพนม - นปข.นครพนม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน หลังความกดอากาศสูงกำลังแรงแผ่ปกคลุม นปข.จัดชุดเคลื่อนที่เร็วรับมือพายุร้อนถล่มตลอด 24 ชม. พร้อมเร่งกระจายข่าวสารผ่านทุกช่องทางให้ประชาชนทราบ
หลังจากที่อุตุนิยมวิทยานครพนม และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดพายุฤดูร้อน และลูกเห็บถล่มในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ทำให้หลายหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 10-12 มี.ค.นี้ ขณะที่สภาพอากาศล่าสุดร้อนจัด คาดว่าอาจจะเกิดพายุขึ้นในพื้นที่ช่วง 1-2 วันนี้
น.อ.ชาญชัย อัฑฒ์สุวีย์ รอง ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) กล่าวว่า กองทัพเรือสั่งการให้ พล.ร.ต.วราห์ แทนขำ ผบ.นรข.เตรียมพร้อมรับมือพายุที่อาจจะเกิดขึ้น โดยตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ นรข.ไว้รับมือตลอด 24 ชั่วโมง นอกเหนือจากภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ 12 อำเภอของ จ.นครพนม โดยจะมีชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนออกให้ความช่วยเหลือภายใน 10-15 นาทีถึงพื้นที่ ประชาชนสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ น.อ.โชคชัย ภูมิวุฒิวงศ์ หน.กรพ.นรข. สายด่วน โทร. 08-1814-0084, 0-4251-1205 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่นายเดชา พลกล้า ปภ.นครพนม กล่าวว่า ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนผ่านเสียงตามสาย หอกระจายข่าวหมู่บ้าน เคเบิลทีวี เครือข่าววิทยุสมัครเล่นระมัดระวังอันตราย หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนให้พื้นที่ จ.นครพนม และทั้งภาคอีสาน เตรียมพร้อมรับมือพายุดังกล่าว โดยได้เตรียมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง สามารถร้องขอความช่วยเหลือ สายด่วนได้ที่โทร. 08-1174-3919, 0-4251-1025
ด้านนายเสกสันต์ ไพบูลย์ เจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยานครพนม กล่าวว่า หย่อมกดความอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะทำให้อากาศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อนถึงร้อนจัด ขณะที่ความกดอากาศสูงกำลังแรงได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส
จึงขอให้ประชาชนใน จ.นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ ไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง รวมถึงอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง งดใช้เครื่องมือสื่อสาร และไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด