กาฬสินธุ์ - เกษตรเมืองน้ำดำติวเข้มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งกว่า 4,500 ราย นำเกษตรกรตัวอย่างมาเป็นต้นแบบฝึกเรียนรู้ทำเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งให้สามารถดำรงชีพและสู้กับวิกฤตภัยแล้ง
วันนี้ (4 มี.ค. 59) ที่ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรประจำ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ บ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ นายธนิตย์ อเนกวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำเขต 10 และ 12 นายประพาส บุญสุข เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะเข้าเปิดการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตร
พร้อมเข้าเยี่ยมแปลงเกษตรของนายบัวลอย ศรีแก้ว เกษตรกรต้นแบบ ซึ่งได้ทำการเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกทุกอย่างที่กินและขายได้ ทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนตลอดทั้งปี ลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จนประสบผลสำเร็จและสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้ครอบครัวเฉลี่ยปีละกว่า 4 แสนบาท
นายธนิตย์ อเนกวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำเขต 10 และ 12 กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งปี 2558/59 เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งได้ และมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ผ่านวิกฤตภัยแล้ง จึงให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 และประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรขึ้น
พร้อมให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นทุกอำเภอรวมทั่วประเทศกว่า 830 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรได้ฝึกอบรมเรียนรู้ ฝึกวิธีคิด วิธีพัฒนาตนเองด้วยการปฏิบัติจริงตามแบบเกษตรกรตัวอย่าง ที่ยึดหลักทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบผลสำเร็จมาแล้ว สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมเศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างยั่งยืน และวางรากฐานพัฒนาเกษตรกรในระยะยาว ทั้งยังบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งแก่เกษตรกร สามารถดำรงชีพในช่วงภัยแล้ง สร้างโอกาสปรับโครงการการผลิตให้เหมาะสมกับสังคมและตลาดสินค้า สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายเกษตรกร ร่วมขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางประชารัฐด้วย
สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ มีเป้าหมายอบรมเกษตรกรทั้ง 18 อำเภอ รวม 4,500 ราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2559 โดยหลักสูตรการอบรมจะเน้น 4 กลุ่มวิชา ประกอบด้วย สร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ สร้างโอกาสการแข่งขัน สร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรที่เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรตัวอย่างประจำแต่ละอำเภอ