xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจ ก.เกษตรฯ ยกเกษตรกรตาขันปลูกพื้นน้ำน้อยเป็นโมเดลนำร่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร ยกเกษตรกรตำบลตาขัน จังหวัดระยอง ปลูกมันเทศ ถั่วลิสง พืชน้ำน้อยให้เป็นโมเดลนำร่องทั่วประเทศ ในสภาวะที่เกษตรกรต้องพบต่อปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

วันนี้ (2 มี.ค.) นายนำชัย พรหมมีชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 3 และเขต 9 ตรวจเยี่ยมโครงการปลูกมันเทศและถั่วลิสง พื้นที่หมู่ 3, 4 และ 9 ตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง และเดินทางต่อมาตรวจเยี่ยมโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/2559 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินประจำตำบล หนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ นายอำเภอบ้านค่าย นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดระยอง นายโสภณ บูรประทีป เกษตรอำเภอบ้านค่าย นายอดุลย์ บำรุงสุนทร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองตะพาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้ โดยมี นายโชติชัย บัวดิษฐ์ ผู้จัดการสวนสุภัทราแลนด์ ฯลฯ วิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมให้ความสนใจซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ นายนำชัย พรหมมีชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาติดตามงานเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้ให้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง หรืออยากเปลี่ยนอาชีพสมัครเข้ารับการอบรมโดยเฉพาะการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ปลูกมันเทศ ถั่วลิสง ในพื้นที่ 200 กว่าไร่ ที่ตำบลตาขัน ซึ่งลดการทำนาปรังทั้งหมดสิ่งเหล่านี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นให้ความสนับสนุนจนประสบความสำเร็จ คาดว่าในต้นเดือนนี้จะเก็บเกี่ยวและดำเนินเรื่องการตลาด ซึ่งโมเดลแห่งนี้เกิดจากความคิดของเกษตรกรที่เห็นความสำคัญเรื่องน้ำจึงเกิดการรวมกลุ่มกันเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐบาลจึงได้ร่วมกันปลูกมันเทศ ถั่วลิสง

“ผมจึงอยากให้การปลูกมันเทศ และถั่วลิสง พืชใช้น้ำน้อยแห่งนี้เป็นโมเดลให้แก่อีกหลายๆจังหวัดได้นำไปใช้พื้นที่ปลูกมันเทศ และถั่วลิสง ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อยเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำร่วมกัน”

นายนำชัย กล่าวว่า วันนี้ภาคการเกษตรมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิต ต้องดำเนินตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร คือ ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน คือ ให้พี่น้องเกษตรกรรวมกลุ่มกันซื้อและขาย เพื่อสร้างพลังต่อรอง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน หรือศูนย์เรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ และกำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 882 ศูนย์ฯ และกำลังทำศูนย์ฯ เครือข่ายฯออกไปอีกจำนวนหลายพันศูนย์ฯ ที่จะตอบสนองความต้องการของพี่น้องเกษตรกร วันนี้จะเห็นว่าเรื่องของปศุสัตว์ และประมงก็จะเกิดขึ้นในศูนย์เรียนรู้ ซึ่งจะตอบโจทย์ในระหว่างภัยแล้งเกษตรกรจะประกอบอาชีพอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองนโยบายในเรื่องของการลดต้นทุน และสร้างโอกาสให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการแก้ปัญหาภัยแล้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น