จันทบุรี - ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี รวมตัวลงชื่อ และยื่นหนังสือให้นายอำเภอขลุง และอดีต ส.ส.จันทบุรี เรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก หลังมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมชาวบ้าน และนายทุนในการบุกรุกป่าชายเลน ซึ่งชาวบ้านเผยมีการอยู่ และทำกินกันมานานแล้ว
วันนี้ (3 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี นายสนั่น แก้วขาว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน และแกนนำชาวบ้านใน 6 หมู่บ้าน ได้นำชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้เข้าจับกุมชาวบ้าน และนายทุนที่บุกรุกป่าชายเลนมาทำการลงชื่อ และยื่นหนังสือให้แก่ นายบัญชา วัฒนวงศ์ นายอำเภอขลุง และนายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ผ่านไปถึง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และ พล.ร.ท.ธนะกาญจน์ ใคร่ครวญ ผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ถึงเรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก โดยมีชาวบ้านมาร่วมในการยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
สำหรับการมารวมตัว และยื่นหนังสือให้แก่นายอำเภอขลุง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 เรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก รวม 5 ประการ คือ 1.มาตรการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนที่ได้กำหนดไว้ในส่วนที่เป็นเขตอนุรักษ์ เขตเศรษฐ์กิจ ก.และ ข.ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และควรถือเป็นบรรทัดฐานต่อไป 2.พื้นที่เขตเศรษฐกิจ ก.หรือเขตเศรษฐกิจ ข.ที่ได้มีการทำนากุ้ง หรือสร้างคันคูไว้ก่อนมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2530 สมควรผ่อนผันให้มีการอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ได้โดยมีเงื่อนไขต่างๆ 3.พื้นที่ใดที่ได้จำแนกไว้เป็นเขตเศรษฐกิจ ก.แต่มิได้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ หากเห็นสมควรประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติให้ดำเนินการ 4.ในเขตเศรษฐกิจ ก.หรือ ข.ที่ได้รับการผ่อนผัน หากราษฎรรายใดไม่ยอมทำการขออนุญาตให้ที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากเห็นว่าหลักฐานกรรมสิทธิ์ที่มีจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัดเป็นรายๆ ไป และ 5.เพื่อเป็นการลดความกดดัน การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำนากุ้ง ควรมีมาตรการเสริม คือ เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการขออนุญาตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำนากุ้ง ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งในกระชัง และเลี้ยงหอย สนับสนุนด้านชลประทาน การจัดรูปที่ดิน และอื่นๆ ที่มีความจำเป็น การทำนากุ้งขนาดใหญ่แบบพัฒนา ให้จัดสรรประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ในสัดส่วนที่เป็นธรรมและเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการละทิ้งที่เดิมแล้วบุกรุกป่าแห่งใหม่ เป็นต้น
ดังนั้น ในวันนี้ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวมาเรียกร้อง และยื่นหนังสือใน 3 ประเด็น คือ 1.กรณีตรวจพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ และไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลม คุกคามต่อระบบนิเวศ จะทำการออกหนังสือ สทก.ให้เพื่อการอยู่อาศัยทำกินต่อไป 2.กรณีที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ แต่เป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ จะต้องกำหนดแผนความช่วยเหลือ หรือย้ายไปในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งหากอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก็จะต้องมีการออกหนังสืออนุญาตรับรองสิทธิให้เช่นเดียวกัน 3.กรณีตรวจสอบสิทธิแล้วปรากฏว่า เป็นการอยู่อาศัยภายหลังการประกาศเป็นพื้นที่ป่าจะต้องพิจารณาดำเนินการจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายต่อไป และหากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทันทีจะต้องทำการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย ทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ในเบื้องต้น นายอำเภอขลุง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ได้รับปากต่อชาวบ้านว่า จะนำหนังสือที่ชาวบ้านได้ยื่นในวันไปมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดต่อไป ทำให้ชาวบ้านจึงเกิดความพอใจ และได้แยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ หากผลที่ชาวบ้านได้เสนอไปไม่เป็นที่น่าพอใจ ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านก็จะกลับมารวมตัว และเดินทางไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรีต่อไป