ฉะเชิงเทรา - หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ระบุช้างป่าเขาอ่างฤาไนมีพฤติกรรมรื้อค้นทำลายกระท่อมชาวบ้าน และไล่เหยียบคนตายนั้น เป็นไปด้วยความคึกคะนองของช้างเพียงบางตัว รวมถึงเป็นพัฒนาการของการเอาชนะสิ่งกีดขวาง และเป็นสัญชาตญาณของช้างป่าที่กำลังหวงลูกในกรณีที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิต
วันนี้ (3 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายบุญชู ธงนำชัยมา หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีช้างป่าเขาอ่างฤาไนไล่เหยียบ และทำร้ายคนตาย ตลอดจนการบุกรื้อค้น และทำลายกระท่อมเพิงพักเฝ้าไร่ของชาวบ้านว่า ถือเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวของช้างป่าเพียงบางตัวเท่านั้นที่มีความคึกคะนองของช้างวัยรุ่นที่อาจต้องการประลองกำลัง เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของตนเองในการทำลายข้าวของได้ หรือเขาอาจจะมองเห็นว่าสิ่งกีดขวาง หรือของเหล่านั้นเป็นของเล่น
ส่วนช้างที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราเองจนเสียชีวิต ขณะที่กำลังเข้าไปร่วมโครงการต้อนช้างคืนสู่ป่านั้น ถือเป็นสัญชาตญาณสัตว์ป่าของช้างแม่ลูกอ่อนที่กำลังหวงลูกตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรที่ช้างจะมีพฤติกรรม และแสดงอาการดุร้ายเพื่อปกป้องไม่ให้ใครเข้ามาใกล้ หรือทำร้ายลูกของตน
ขณะเดียวกันห ลังจากที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ขุดคูกันช้างล้อมรอบพื้นที่ และช้างป่ายังสามารถปีนแนวคูกันช้างหนีออกไปยังพื้นที่ภายนอกได้นั้น ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติเช่นกัน แต่เป็นพัฒนาการของการเอาชนะสิ่งกีดขวางเหล่านั้นของเขา เนื่องจากช้างป่าเองนั้นเมื่ออยู่ในธรรมชาติของเขา ช้างก็ยังสามารถที่จะปีนป่ายหน้าผาข้ามเนินเขาสูงชันไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากสภาพเป็นพื้นที่นั้นมีลักษณะที่เป็นขั้นชั้นบันได เขาก็จะสามารถปีนข้ามไปได้
สำหรับการออกหากินของช้างป่านั้น โดยทั่วไปแล้วช้างป่าที่เป็นตัวแม่ก็จะมีฝูงของตัวเอง โดยในฝูงก็จะมีลักษณะของช้างป่าแบบรวมญาติ ที่มีช้างพี่ ป้า น้า อา รวมอยู่ในฝูงที่เป็นช้างเพศเมีย และช้างตัวผู้ขนาดเล็ก หรือลูกช้าง โดยญาติของช้างในฝูงก็จะมีหน้าที่ช่วยคอยดูแลความปลอดภัยให้แก่ลูกช้างที่อยู่ในฝูงด้วย โดยที่ช้างตัวผู้ขนาดใหญ่นั้นจะแยกออกไปหากินแต่เพียงตามลำพังแบบเดี่ยวๆ หรืออาจเรียกว่าช้างโทน ยกเว้นเฉพาะในบางช่วงเวลา หรือฤดูผสมพันธุ์เท่านั้นที่เขาจะมาเจอกันกับช้างเพศเมียก็จะเข้ามารวมอยู่ในฝูงเป็นเพียงครั้งคราว
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ช้างหนีออกไปจากเขตป่านั้น เป็นเพราะช้างนั้นกินพืชเป็นอาหาร และเกษตรกรก็ปลูกพืช ซึ่งเป็นอาหารของช้างป่าด้วย ช้างจึงได้พากันพยายามที่จะหนีออกจากป่าไปกินพืชไร่ของชาวบ้าน เพราะพืชที่เกษตรกรปลูกนั้นมีรสชาติที่ดีกว่า หรืออร่อยกว่าอาหารที่มีอยู่ในป่า เช่น ยอดอ่อนของต้นปาล์ม ผลไม้ในสวนของชาวบ้าน ที่เขารู้สึกว่ามันเป็นอาหารที่ดีกว่าอาหารป่ามาก ทั้งที่ในป่าเขาอ่างฤาไนเองนั้นก็ถือว่ามีอาหารที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ และพร้อมที่จะให้ช้างป่าอยู่อาศัยได้
แต่เมื่อเขาไปพบกับแหล่งอาหารที่ดีกว่า มีแหล่งน้ำที่ชาวบ้านขุดไว้ และยังมีพุ่มไม้ที่หลบภัยด้วยเขาจึงอยากที่อยู่ในสวนของชาวบ้านมากกว่า เพราะมีปัจจัยความพร้อมสะดวกสบายมากกว่าที่จะอยู่ในป่า
สำหรับวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกช้างป่าเหยียบ หรือทำร้ายนั้น ที่ผ่านมา ได้มีประชาชนที่อยู่ใกล้กับแนวชายป่าในบางพื้นที่นั้น เขาจะรวมกลุ่มกันสังเกตการณ์ดูพฤติกรรมของช้างป่าแต่ละตัวว่า ตัวไหนดุร้าย ช้างตัวไหนมีนิสัยอ่อนโยน เข้าใกล้ได้มากน้อยเพียงใด โดยจะมีการถ่ายทอดบอกเล่าต่อกันไป เพื่อที่จะไม่เข้าไปอยู่ใกล้ในรัศมีที่เขาจะเข้ามาทำอันตรายได้
ส่วนใหญ่ช้างที่จะทำร้ายคนนั้น ช้างมักจะเป็นฝ่ายที่ถูกทำร้ายก่อนเขาจึงต้องมีการที่จะต่อสู้ และจำฝังใจไว้ว่า ถ้าพบกับเหตุการณ์ หรือบุคคลลักษณะนี้เขาก็จะต้องเข้าไปทำร้าย เช่น เสียงของรถจักรยานยนต์ เสียงของรถยนต์ หรือเสียงที่ทำให้เขาเกิดความรำคาญ ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เขาจะเข้ามาทำร้ายคนได้
ส่วนกรณีที่ช้างป่าเข้าไปค้นหาตัวบุคคลตามกระท่อมนอนเฝ้าไร่ เพื่อที่จะลากตัวลงมาทำร้ายนั้น ก็อาจจะมีจริงเพราะบางคนนั้นอาจเคยไปทำร้ายช้างเอาไว้ และช้างเขาก็ยังจำกลิ่นได้ เมื่อเขาอยู่ในรัศมีที่สัมผัสกลิ่นได้เขาก็จะตรงเข้าไปทำร้าย
สำหรับกรณีที่ช้างสามารถดันลวดไฟฟ้า หรือทำลายแนวลวดไฟฟ้าได้นั้นถือเป็นการเรียนรู้ที่จะเอาชนะของช้างป่าเอง เพราะเขามีสมองที่ค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้มีการคิดแก้ปัญหาของเขาเกิดขึ้น ซึ่งอาจค่อนข้างล้ำเร็วไปกว่าคน หากคนไปทำอะไรเพื่อกั้นเขาไว้ และเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีเหตุมาจากอะไร และสามารถที่จะทำลายที่ต้นเหตุนั้นได้ เขาก็จะสามารถข้ามสิ่งกีดขวางเหล่านั้นออกไปได้
ภาพรวมปัญหาช้างป่าทั้งประเทศนั้น ป่าตะวันออกถือว่าเป็นปัญหามากที่สุดในประเทศ เพราะว่าพื้นที่เกษตรกรรมนั้นอยู่ชิดกับแนวชายป่ามาก เมื่อช้างเดินก้าวออกจากป่าไปแค่เพียงเล็กน้อยก็จะเข้าถึงพื้นที่ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านแล้ว ตลอดจนยังมีชุมชนที่อยู่ใกล้กับแนวชายป่าค่อนข้างมาก ตรงจุดนี้จึงถือว่ามีปัญหาค่อนข้างรุนแรง และเกิดผลกระทบระหว่างช้างป่ากับเกษตรกรมากที่สุดในประเทศ